เมื่อเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เปลี่ยนไปเนื่องคนรุ่นใหม่นิยมมีลูกกันน้อยลง ประกอบกับการมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้เทรนด์การเลี้ยงสัตว์เป็นลูก เสมือนคนในครอบครัว หรือ ”Pet Humanization” และการสัตว์ในปัจจุบันนี้ยังสามารถช่วยบำบัดจิตใจผู้เลี้ยงได้ด้วย จึงได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น
“การบำบัดด้วยสัตว์” มาจากคำว่า “Animal Assisted Therapy” หรือ “Animal Therapy” คือ การนำสัตว์มาร่วมในโปรแกรมการบำบัดรักษาผู้ป่วย เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพิ่มความสามารถในการปรับตัว หรือช่วยเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น เป็นการบำบัดที่นำมาเสริมเข้ากับการรักษาวิธีการหลัก ซึ่งมีการนำมาใช้อยู่หลากหลายวัตถุประสงค์ และหลากหลายรูปแบบ
สัตว์ที่นิยมนำมาใช้กันมาก ได้แก่ สุนัข แมว ม้า และโลมา เป็นต้น โดยต้องมีการคัดเลือกและฝึกฝนสัตว์มาเป็นอย่างดี พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
สัตว์เลี้ยงบำบัด (pet therapy) นับเป็นรูปแบบหนึ่งของการบำบัดด้วยสัตว์ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับมากพอสมควรว่าได้ผลดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถช่วยเยียวยาด้านจิตใจเป็นอย่างดี สำหรับในเด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือทารุณกรรม ก็พบว่าสัตว์เลี้ยงสามารถช่วยเยียวยาจิตใจได้ดีมากเช่นเดียวกัน ให้ทั้งความรู้สึกที่ปลอดภัยขึ้น ได้รับความรักโดยไม่มีเงื่อนไข และเด็กยังสามารถสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย
เพื่อที่จะสร้างความผูกพันกับสัตว์ได้ เราจำเป็นที่จะต้องก้าวออกจากโลกของตัวเอง และพยายามที่จะสื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบำบัดรักษา ในขณะที่สัตว์เองก็มีความสามารถในการกระตุ้นให้เกิดสิ่งเหล่านี้ง่ายขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ช่วงหนึ่งที่ทำให้เราสนใจสิ่งอื่นนอกจากตัวเราเอง จึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัวยิ่งในการบำบัดด้วยสัตว์
ประโยชน์ของการบำบัดด้วยสัตว์
สัตว์แต่ละชนิดมีคุณสมบัติและเงื่อนไขที่แตกต่างกันในการนำมาบำบัดรักษาผู้ป่วย ซึ่งจะต้องพิจารณาตามสภาพปัญหา และความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน พบว่าสามารถนำสัตว์มาใช้ประโยชน์ในการบำบัดรักษาทางการแพทย์ได้หลากหลาย ดังนี้
· ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ การบำบัดด้วยสัตว์ช่วยนำกลับมาสู่ปัจจุบันขณะได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักหลงพะวงและระแวงเป็นส่วนใหญ่ ลูกสุนัขที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี สามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หลุดออกมาจากภาวะเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดอาการกระสับกระส่าย (agitated behavior) และเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
· ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการสื่อสาร หรือผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มหัดพูดใหม่อีกครั้งหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง สัตว์เลี้ยงสามารถช่วยกระตุ้นการสื่อสารพูดคุยได้เป็นอย่างดี
· ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ ก็สามารถนำสัตว์เลี้ยงมาช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร และเสริมสร้างความผูกพันที่ดีได้ ช่วยให้ลดมุมมองในเชิงลบหรือเลวร้ายที่มีต่อโลกหรือคนรอบข้าง
· ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีอาการดีขึ้นได้ด้วยสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกัน เนื่องจากช่วยลดความซ้ำซากจำเจในการดำเนินชีวิตประจำวัน และเพิ่มความสนใจ ใส่ใจ ในโลกนอกตัวที่กว้างขึ้น
· สัตว์เลี้ยงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของความหวังอีกครั้ง จากการได้เรียกหาแล้วได้รับการสนองตอบ จากการรอคอยเวลาแล้วได้กลับมาพบกันอีกครั้ง เป็นการสร้างความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
· สัตว์เลี้ยงสามารถให้สัมผัสที่อบอุ่นได้เป็นอย่างดี จากการลูบ กอด ซึ่งเป็นเสมือนสัมผัสแห่งรักมาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป
สัตว์เลี้ยงช่วยเสริมสร้างปฎิสัมพันธ์ทางสังคมได้เป็นอย่างดี กระตุ้นให้ออกมาจากห้อง และมีปฎิสัมพันธ์ทางสังคมกับสัตว์และผู้อื่นมากขึ้น
· ในเด็กสมาธิสั้น พบว่า สามารถจดจ่ออยู่กับสัตว์เลี้ยงได้นานขึ้น ซึ่งช่วยให้เรียนรู้สภาวะที่มีสมาธิดี และในเด็กออทิสติก พบว่า ช่วยให้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเพิ่มขึ้น จากการนำสุนัขมาช่วยในการบำบัด
· การนำสัตว์มาใช้ร่วมในการบำบัดเด็กพิเศษ หรือเด็กที่เจ็บป่วยเรื้อรัง อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้ชีวิตดูง่ายขึ้น และมีสีสัน ความสนุกสนานมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดรักษาในแนวทางหลักได้ดียิ่งขึ้น
โดยสรุปแล้วการบำบัดด้วยสัตว์มีประโยชน์มากมาย ถ้าสามารถเลือกนำมาใช้ได้เหมาะสม อย่างน้อย 3 ประการ คือ
1) ผลทางด้านจิตวิทยา คือ ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย สร้างเสริมแรงจูงใจ
2) ผลทางด้านสังคม คือ กระตุ้นให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล
3) ผผลทางด้านชีววิทยา คือ การช่วยให้สัญญาณชีพดีขึ้น เช่น การเต้นของหัวใจ ชีพจร ความดันโลหิต
กระบวนการและรูปแบบการบำบัดด้วยสัตว์
ในการบำบัดด้วยสัตว์ ไม่มีกระบวนการและรูปแบบที่ตายตัวเช่นกัน แต่มีการออกแบบการบำบัดรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล สัตว์ที่นิยมนำมาใช้ในการบำบัด ได้แก่
· สุนัขบำบัด (Dog Therapy) »
· อาชาบำบัด (Hippotherapy) »
· โลมาบำบัด (Dolphin Therapy) »
· มัจฉาบำบัด (Fish Therapy) »
· แมวบำบัด (Cat Therapy) »
· กระบือบำบัด (Buffalo Therapy) »
รายละเอียดของการบำบัดด้วยสัตว์แต่ละชนิด สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเฉพาะแต่ละเรื่อง ภายใต้หัวข้อ “การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ”
ข้อควรคำนึงในการบำบัดด้วยสัตว์
สัตว์ชนิดใดที่มีความเหมาะสมในการบำบัด นอกจากพิจารณาจากจุดมุ่งหมายที่ต้องการในการบำบัดแล้ว ยังต้องพิจารณาดูว่าผู้รับการบำบัดชอบหรือไม่ชอบด้วย และเมื่อเริ่มการบำบัดแล้วก็ต้องติดตามการตอบสนองของเด็กด้วยว่าดีหรือไม่
ข้อพึงระวังที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือ ความกลัวและอาการภูมิแพ้จากขนสัตว์ ซึ่งต้องสอบถามประวัติเหล่านี้ก่อนว่ามีหรือไม่ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบำบัดก็เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วยเช่นกัน เนื่องจากการบำบัดด้วยสัตว์หลายชนิดมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
แหล่งที่มาข้อมูลจาก: ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การบำบัดด้วยสัตว์. จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt11-animaltherapy.htm
เรียบเรียงโดย ชาคริตส์ คงหาญ