สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA จัดงานมอบรางวัลการประกวดนวัตกรรม “ท้องถิ่นดิจิทัลประจำปี 2565” หรือ “DGTi Local Government Awards 2022”ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล ของ ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ (Digital Government Technology & Innovation Center: DGTi)
โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมอบรางวัลพร้อมชูนโยบายรัฐบาลดิจิทัลเชื่อมการทำงานรัฐบาลกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นแบบไร้รอยต่อ ด้วยแนวคิดรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้พร้อมด้วยดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล นายทวี เสริมภักดีกุลรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
นายชัยวัฒน์ ภัทรกานต์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาชน สำนักงาน ก.ก.ถ. นายณัฐวัชร์ วรนพกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลร่วมงานแสดงความยินดี กับหน่วยงานที่ได้รางวัลครั้งนี้ด้วย
รมต. อนุชาฯกล่าวว่าโครงการประกวดนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัลประจำปี 2565 นี้เป็นอีกก้าวที่สำคัญของรัฐบาลในการเปิดโอกาสให้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำเสนอผลงานดิจิทัลโซลูชันการให้บริการในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่แนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหา และผลงานเชิงประจักษ์
ซึ่งล้วนแต่ผ่านกระบวนการทำงานกันอย่างหนักของชาว อปท. ในการเสียสละ ทุ่มเทเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จึงขอชื่นชมอปท. ที่ได้รับรางวัลทั้ง 15 หน่วยงาน ที่มุ่งมั่นสร้างคุณประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง รัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อปท.ที่ได้แสดงศักยภาพการนำเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ตลอดจนได้นำเสนอแผนงานพัฒนาในอนาคต มาพัฒนาต่อยอดการบริการให้ดียิ่งขึ้นไปเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
นายทวี เสริมภักดีกุลรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้กล่าวแสดงความขอบคุณ DGA ที่จัดทำโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัลซึ่งเป็นเวทีแห่งโอกาสให้อปท.ได้นำเสนอแนวคิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ที่มาปรับใช้ในการอำนวยความสะดวกการให้บริการประชาชนให้เป็นที่ประจักษ์ถึงความมุ่งมั่นของแต่ละพื้นที่ในการร่วมเดินหน้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
ทั้งนี้ อปท. ถือเป็นด่านหน้าที่สำคัญที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนกว่า 60 ล้านคนทั่วประเทศ ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ นี้จะช่วยเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคีทุกภาคส่วนในการพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าในการบริหารงบประมาณ และทรัพยากรของท้องถิ่น ที่สำคัญคือ ช่วยยกระดับการพัฒนาบริการและกิจกรรมสาธารณะของแต่ละ อปท. ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน ทันสมัย ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกล่าวเพิ่มเติมว่า DGA ได้จัดตั้งศูนย์ DGTiขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับท้องถิ่น พร้อมทั้งได้จัดโครงการประกวดนวัตกรรมท้องถิ่นดิจิทัล มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว เพื่อเฟ้นหาหน่วยงานอปท. ที่มีผลงานโดดเด่น สามารถเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นพี่เลี้ยงที่จะคอยช่วยเหลือ อปท. ทั่วประเทศในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัลในวงกว้าง
สำหรับปีนี้ “รางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประจำปี 2565”มีอปท.ที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 15 รางวัล แบ่งเป็นประเภทยอดเยี่ยม 3รางวัล และท้องถิ่นดิจิทัลประเภทดีเด่น 12รางวัล
โดยมีเกณฑ์การประเมินรางวัลทั้งสิ้น 4หมวด ได้แก่
หมวดที่ 1 การระบุชัดเจนถึงกระบวนการเพื่อให้ทราบที่มาของปัญหา มีความสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ และทำให้สามารถระบุวัตถุประสงค์ของผลงานได้
หมวดที่ 2 มีนโยบายและแผนตลอดจนวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการทำงานสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่อย่างแท้จริง
หมวดที่ 3 มีกระบวนการทำงาน รูปแบบและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์รวมถึงการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้
หมวดที่ 4 มีผลลัพธ์การพัฒนาต่อยอดเป็นรูปธรรมในอนาคตที่ชัดเจน โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้คัดเลือกผลงานจำนวนทั้งสิ้น 15ผลงานที่ผ่านเกณฑ์และได้รับรางวัล
โดยรายละเอียดเรียงตามลำดับตัวอักษรของจังหวัด ดังนี้
1.รางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทยอดเยี่ยม 3รางวัล ได้แก่
1. เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา ผลงานYALA Resilience City (ยะลา เมืองยืดหยุ่น ยั่งยืน)
2. เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ผลงานการบริหารจัดการพื้นที่ประสบอุทกภัยด้วยระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มวอร์รูม ของเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร
3. องค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่ง จังหวัดเชียงราย ผลงาน E-smart pahung (ป่าหุ่ง)
2.รางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทดีเด่น 12รางวัล ได้แก่
1. เทศบาลนครนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา young kids 6 part
2. เทศบาลนครนครศรีธรรมราชจังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการ “ร้องทุกข์ออนไลน์” Online Petition and Service Center
3. เทศบาลนครนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี แอปพลิเคชันนครนนท์
4. เทศบาลเมืองเขารูปช้าง จังหวัดสงขลาMYKhaoroopchangระบบรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์
5. เทศบาลเมืองคอหงส์ จังหวัดสงขลา โครงการ APPLICATION KHOHONG SMART CITY
6. เทศบาลตำบลแม่จะเรา จังหวัดตาก การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่นด้วยดิจิทัล
7. เทศบาลตำบลเมืองพาน จังหวัดเชียงราย การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสุขภาพของรพ.สต.ตำบลเมืองพาน
8. เทศบาลตำบลหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่ ระบบศูนย์บริการประชาชน (One Stop Service) “หนองหอยสุขใจ”
9. องค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน จังหวัดแพร่ โครงการจัดการศึกษาภาษาท้องถิ่นสู่สากล
10. องค์การบริหารส่วนตำบลนาหนองทุ่ม จังหวัดขอนแก่น โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีภาวะพึ่งพิงโดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในรูปแบบของ Smart Car
11. องค์การบริหารส่วนตำบลย่านยาวจังหวัดสุโขทัยโครงการ SMART EMS : ระบบการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ ประจำปีงบประมาณ 2564
12. องค์การบริหารส่วนตำบลย่านยาวจังหวัดสุโขทัยโครงการนวัตกรรมเพื่อการจัดการศึกษาปฐมวัย (Smart Kids)