โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลหรือโครงการผันน้ำยวมเป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจุดประสงค์หลักของโครงการคือการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เพื่อช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำปิงบริเวณท้ายเขื่อนภูมิพลและลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางที่มีการใช้พื้นที่ในการปลูกพืชฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้นมีการปลูกข้าวนาปรังพืชฤดูแล้งและพืชเศรษฐกิจอื่นๆมากขึ้น
กรมชลประทานระบุว่าเขื่อนภูมิพลเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีความจุใช้งาน 9,662 ล้านลูกบาศก์เมตรแต่ที่ผ่านมามีน้ำท่าเฉลี่ยในแต่ปีละเพียง 5,642 ล้านลูกบาศก์เมตร การผันน้ำยวมคาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำรวมที่ไหลเข้าเขื่อนภูมิพลในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 7,437 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำในส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งในโครงการกำแพงเพชร
และโครงการเจ้าพระยาใหญ่ได้ถึง 1,610,026 ไร่ หรือคิดเป็นรายได้จากการทำเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 4,599 ล้านบาทและหากมีการปรับปรุงการปลูกพืชฤดูแล้งตามความเหมาะสมของดิน ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำน้อย แต่ให้ผลตอบแทนสูงจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง 2.6 เท่าหรือคิดเป็นมูลค่า 11,910 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้กรมชลประทานได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลจะช่วยให้มีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น 417 ล้านหน่วยต่อปีคิดเป็นมูลค่า 1,402.95 ล้านบาทต่อปีเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อนภูมิพล
ซึ่งไม่ได้ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำนี้ยังส่งผลทางอ้อมทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (LNG) ได้บางส่วนเกิดการประหยัดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมได้ปีละ 1,147 ล้านบาทซึ่งต้นทุนที่ลดลงนี้จะถูกสะท้อนในรูปการเรียกเก็บค่า Ft จากผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศลดลงทำให้ประชาชนสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าลงไปได้ส่วนหนึ่ง
ในเอกสารโครงการที่กรมชลประทานเผยแพร่ยังได้ระบุอีกว่าประชาชนที่อาศัยโดยรอบส่วนองค์ประกอบของโครงการส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งของเขื่อนน้ำยวมบนแม่น้ำยวมเหนือจุดบรรจบแม่น้ำเมยทางด้านเหนือน้ำประมาณ 13.8 กม. และพื้นที่ก่อสร้างองค์ประกอบโครงการส่วนที่ 2 ที่เป็นสถานีสูบน้ำบ้านสบเงาและอาคารดักตะกอนซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอสบเมยจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะได้รับประโยชน์ในเรื่องเสถียรภาพด้านไฟฟ้าจากโครงข่ายไฟฟ้าที่มากับการก่อสร้างโครงการ
โดยบริเวณจุดที่ตั้งของเขื่อนน้ำยวมจะมีการปรับปรุงและก่อสร้างถนนใหม่เพื่อใช้ในการขนส่งวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างรวมไปถึงการติดตั้งระบบสายส่งไฟฟ้าเพิ่มเติมไปยังตัวเขื่อนน้ำยวม
ส่วนพื้นที่สถานีสูบน้ำบ้านสบเงาทาง กฟผ. จะทำการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ลำพูน 3 - สถานีสูบน้ำบ้านสบเงาเชื่อมโยงจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงลำพูน 3 อำเภอเมืองลำพูนจังหวัดลำพูนไปยังสถานีสูบน้ำบ้านสบเงาอำเภอสบเมยจังหวัดแม่ฮ่องสอนระยะทางประมาณ 147 กิโลเมตร
#น้ำยวม #โครงการผันน้ำยวม #เขื่อนภูมิพล