จบลงไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่ สำหรับนิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทยและก้าวต่อไปในทศวรรษที่ 6” ตลอด 2 วันเต็มของการจัดงานระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2566 ณ เฮลิกซ์ การ์เด้นชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ถ.สุขุมวิท กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง และอัดแน่นด้วยสาระของการจัดงาน ทั้งนิทรรศการแสดงผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของนักวิชาการเกษตรอันทรงคุณค่าที่นำมาจัดแสดงภายในงาน
การจัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาของกรมวิชาการเกษตรตลอด 50 ปี หรือ 5 ทศวรรษและอีกไฮไลต์สำคัญคือกิจกรรมเสวนาใน 3 หัวข้อใหญ่ที่เข้ากับยุคสมัย เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรไทยได้เตรียมตัว และปรับตัว รับมือความท้าทายกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างโอกาสของภาคเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน
ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อเสวนาเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารภายใต้ปรากฎการณ์ El Nino และโอกาสการค้าตลาดคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืชของไทย” เรื่อง “ทิศทางการนำเข้าปุ๋ย เคมีเกษตร และปัจจัยผลิตทางการเกษตรไทย” และเรื่อง “การส่งออกผักผลไม้ไทย “แสนล้าน”สู่ตลาดโลก : เงื่อนไข กฎระเบียบ และแนวโน้มการส่งออก” ที่มีกูรูจากกรมวิชาการเกษตร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนภาคเอกชนจากสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน)และนักวิชาการอิสระ ร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นปัญหา-อุปสรรค พร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อทิศทางอนาคตที่เป็นประโยชน์
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดงานนิทรรศการของกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงเกษตรฯที่จะเร่งดำเนินการในทศวรรษที่ 6 ของกรมวิชาการเกษตรที่สำคัญคือ การสื่อสารให้ประชาชนและเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตพืชผักต่าง ๆ ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานสำคัญต่อภารกิจนี้ จะต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกับเกษตรกร เพราะเทคโนโลยีการผลิตยุคใหม่ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น การใช้แรงงานคนในการผลิตจะลดน้อยลง ดังนั้นจะต้องสอนให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีให้ถูกทาง รวมถึงการใช้ปุ๋ย หรือสารเคมีต่าง ๆ ที่ต้องใช้ให้ถูกวิธีเพื่อให้ภาคเกษตรไทยก้าวต่อไปอย่างมั่นคง
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ประสบความสำเร็จลงด้วยดี และตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานที่มีเป้าหมายเพื่อสื่อสารบทบาท ภารกิจและผลการดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตรตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ หลังจากนี้ในการก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 กรมวิชาการเกษตรยังมีภารกิจมากมายที่จะต้องเร่งดำเนินการตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และสอดคล้องกับบริบทของไทยและของโลก
ไม่ว่าจะเป็น การนำผลงานวิจัยของนักวิชาการกรมวิชาการเกษตรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เปิดให้ภาคธุรกิจเอกชนนำไปต่อยอด การสร้างความรู้ความเข้าใจเกษตรกรในโครงการลดก๊าซเรือนกระจากภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย(T-VER)ที่กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อขอรับรองและขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรไทยในอนาคต
ตลอดจนการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจเงื่อนไข กฎระเบียบในการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรไทยแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาอาชีพ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกที่จะสะท้อนกลับมายังเกษตรกรไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต