นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เนื่องใน“วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ 21 ตุลาคม” สสส.เห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพ สร้างนำซ่อมก่อนการรักษา โดยสุขภาพช่องปากเป็นหนึ่งในสุขภาพที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะช่องปากเป็นเหมือนประตูสู่โรคร้าย ปัญหาสุขภาพช่องปากเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และคุณภาพชีวิต สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรม และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพช่องปากที่ไม่เหมาะสม
ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุก กลุ่มวัยทั้ง เด็ก วัยทำงาน ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะวัยทำงานจากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ สภาวะสุขภาพช่องปากครั้งที่ 8 ปี 2560 พบว่า เป็นวัยที่พบโรคฟันผุมากถึง 91.8% มีฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษา 43.3% และเริ่มมีการผุบริเวณซอกฟัน มีหินน้ำลาย เลือดออก 75.5% มีร่องลึกปริทันต์ตั้งแต่ 4 มม. ขึ้นไป 25.9% ซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่การสูญเสียฟันเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุสูงถึงประมาณ 10 ซี่/คน วัยทำงานเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาครอบครัว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีบทบาทเป็นทั้งผู้นำครอบครัวหรือรับผิดชอบดูแลกลุ่มวัยอื่น ๆ ให้มีสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นด้วย
“สภาวะในช่องปากที่สัมพันธ์กับความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและของไทย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ซึ่งโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคในช่องปาก ทั้งโรคปริทันต์อักเสบ โรคเหงือกอักเสบ และการเกิดแผลในช่องปากจากภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย จากการสำรวจตั้งแต่ปี 2556-2562 พบว่าอัตราการป่วยโรคเบาหวาน กลุ่มช่วงอายุวัยทำงานมีอัตราเพิ่มขึ้น และพบในคนที่มีอายุน้อยลง วัยทำงานจึงเป็นช่วงสำคัญในการดูแลสุขภาพช่องปาก ปิดประตูสู่โรคร้าย เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า สสส. ให้ความสำคัญกับสุขภาพช่องปาก ได้ร่วมกับ มูลนิธิทันตสาธารณสุข และสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากของ กลุ่มวัย ด้วยยุทธศาสตร์ 5 ด้าน
1. พัฒนารูปแบบบริการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก
2. พัฒนาคู่มือการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก
3.สร้างความรอบรู้สุขภาพช่องปาก พัฒนาเครื่องมือประเมินคัดกรองสภาวะช่องปากด้วยตนเอง สื่อสารและสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปาก ผ่าน แอปพลิเคชัน “ฟันดี Fun D”
4. พัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศ ติดตามสุขภาพช่องปากและการจัดบริการที่เหมาะสมในพื้นที่
5. พัฒนาข้อเสนอและขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยขับเคลื่อนนโยบาย/พัฒนากลไกเพื่อการเข้าถึงสิทธิประโยชน์การตรวจสุขภาพช่องปากและจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มผู้ประกันตน และพัฒนานโยบายสร้างเสริมสุขภาพในระดับองค์กร สถานประกอบการ ชุมชน ทำงาน เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่วัยผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และเพิ่มสัดส่วนของประชากรวัยทำงานให้เข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพ และเข้ารับบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานอย่างเหมาะสม