“แม่ซื้อ” คืออะไร? เปิดภาพพร้อมตำนานความเชื่อ แม่ซื้อ

28 พฤศจิกายน 2564

มีใครเคยได้ยินคำว่าแม่ซื้อบ้างไหมค่ะ? รู้หรือเปล่า คำว่าแม่ซื้อคืออะไร? แล้วถ้าเคยได้ยิน แม่ซื้อมีจริงไหม? Thainews จะพาไปไขข้อสงสัย แม่ซื้อคือใคร

บทความนี้ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล และเป็นความเชื่อเฉพาะท้องถิ่น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน กาลเวลาก้าวข้ามจากอดีตมาจนถึงทุกวันนี้ คุณแม่มือใหม่ในยุคปัจจุบัน อาจจะไม่เคยได้ยินคำว่าแม่ซื้อกันเท่าไหร่นัก คำว่าแม่ซื้อคืออะไร มีจริงไหม และคือใคร

แม่ซื้อ หมายถึง เทวดาหรือผีที่คอยดูแลรักษาเด็กทารก เชื่อว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาต้องมีแม่ซื้อประจำวันเกิดคอยดูแล เพื่อปกปักรักษาไม่ให้เด็กเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนมากเป็นหญิงและเชื่อว่ามี 7 ตนอยู่ประจำวันได้แก่

แม่ซื้อ ประจำวัน อาทิตย์ ชื่อว่า “วิจิตรมาวรรณ”

1. แม่ซื้อประจำวันอาทิตย์ ชื่อว่า “วิจิตรมาวรรณ” มีหัวเป็นสิงห์ มีผิวกายสีแดง
 

แม่ซื้อ ประจำวันจันทร์ ชื่อว่า “วรรณนงคราญ”

2. แม่ซื้อประจำวันจันทร์ ชื่อว่า “วรรณนงคราญ” มีหัวเป็นม้า มีผิวสีขาวนวล

แม่ซื้อ ประจำวันอังคาร ชื่อว่า “ยักษบริสุทธิ์"

3. แม่ซื้อประจำวันอังคาร ชื่อว่า “ยักษบริสุทธิ์" มีหัวเป็นมหิงสา (ควาย) ผิวกายสีชมพู

แม่ซื้อ ประจำวันพุธชื่อว่า ”สามลทัศ”

4. แม่ซื้อประจำวันพุธ ชื่อว่า ”สามลทัศ” มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว

แม่ซื้อประจำวันพฤหัสบดี ชื่อว่า “กาโลทุกข์”

5. แม่ซื้อประจำวันพฤหัสบดี ชื่อว่า “กาโลทุกข์” มีหัวเป็นกวาง มีผิวกายสีเหลืองอ่อน

แม่ซื้อ ประจำวันศุกร์ชื่อว่า “ยักษ์นงเยาว์”

6. แม่ซื้อประจำวันศุกร์ ชื่อว่า “ยักษ์นงเยาว์” มีหัวเป็นโค ผิวกายสีฟ้าอ่อน

 

แม่ซื้อ ประจำวันเสาร์ชื่อว่า “เอกาไลย์”

7. แม่ซื้อประจำวันเสาร์ ชื่อว่า “เอกาไลย์” มีหัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ ทุกตนทรงอาภรณ์ (เสื้อผ้า) สีทอง

ตามตำนานกล่าวว่าแม่ซื้อเดิมทีเป็นเทพธิดา ได้ถูกพระอิศวรบัญชาให้แปลงกายเป็นแม่ซื้อลงมาปกปักรักษาทารกตั้งแต่อยู่ท้องผู้หญิงโดยมีความเชื่อว่าเมื่อเด็กทารกเกิดออกมาจากท้องแม่ก็จะมีแม่ซื้ออีกตนหนึ่งติดตามมาเพื่อคุ้มครองปกปักรักษา แต่ในทางกลับกันแม่ซื้อก็อาจให้โทษได้ด้วยอันเนื่องจากมีแม่ซื้อมาหยอกเล่นกับเด็ก หรือหึงหวงเด็กทารกเพราะมีแม่ใหม่คอยดูแล

เทวดา แม่ซื้อ

ตามความเชื่อนี้แม้ว่าแม่ซื้อจะถือว่าเป็นพี่เลี้ยงทารกก็จริงอยู่ แต่บางครั้งก็ให้โทษได้เช่นกัน มีการแปลงกายเป็นสิ่งต่างๆ เช่น เป็นยักษ์ เป็นมาร ฯลฯ มาหลอกหลอนเด็กจนทำให้เด็กทารกตกใจกลัวป่วยไข้ไป ดังความว่า "เป็นช้างเสือสีห์ เป็นแร้งเป็นกาเป็นครุฑเลียงผา เป็นควายเป็นวัว เป็นนกเงือกร้อง กึกก้องพองหัว ตัวเป็นตัววัว หัวเป็นเลียงผา บ้างเป็นงูเงือก หน้าลาตาเหลือก ยักคิ้วหลิ้วตา บิดเนื้อบิดตัว น่ากลัวนักหนาตัวเป็นมฤคา เศียรากลับผัน เป็นยักษ์ขินี เติบโตพ่วงพี ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน ทารกเห็นร้อง ขนพองตัวสั่น ดิ้นด้าวแดยัน กายสั่นรัวรัว ให้ร้อนให้เย็น ร่างกายแข็งเข็ญ เป็นไข้ร้อนตัวท้องขึ้นท้องพอง เจ็บป่วยปวดหัว แม่ซื้อประจำตัว ทำโทษโทษา" การกระทำของแม่ซื้อดังกล่าวนี้ อาจจะทำให้เด็กตกใจ หรือเจ็บป่วยได้

ดังนั้นเพื่อให้เด็กหายเป็นปกติ จึงมีการจัดพิธี ทำแม่ซื้อ หรือ เสียแม่ซื้อ ขึ้น บางครอบครัวแม้เด็กจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ยังทำพิธีดังกล่าวอยู่ดี ทั้งนี้ด้วยเชื่อว่าจะเป็นการเสริมสิริมงคลแก่เด็ก สำหรับพิธี ทำแม่ซื้อ หรือ เสียแม่ซื้อ นั้นหมายถึงพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้เด็กหายจากอาการสะดุ้งผวา หรือการเจ็บไข้ได้ป่วย และได้รับการดูแลรักษาด้วยดีจากแม่ซื้อ

การทำพิธีมักจะทำในวันเกิดของเด็กหากเป็นวันข้างขึ้นก็ให้ใช้วันคี่ ข้างแรมให้ใช้วัน ข้างแรม ซึ่งบางท้องถิ่นโดยเฉพาะภาคอีสานเรียกพิธีนี้ว่า "พิธีแบ่งลูกผีลูกคน" โดยการนำเด็กทารกมาวางในกระด้งร่อนแล้วกล่าวว่า "สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร ใครเอาไปเน้อ" ฝ่ายพ่อแม่ก็จะรับว่าเป็นลูกตน คนทำพิธีก็จะส่งลูกให้แม่ซื้อก็จะรู้ว่าทารกนั้นเป็นลูกคนแล้ว ก็จะไม่มารบกวนอีก

แม่ซื้อ เด็กทารก รับขวัญเด็กแรกเกิด

สรุป แม่ซื้อแต่ละท้องถิ่น ภาคเหนือจะมีแม่ซื้อ ๗ นาง ที่จะปกป้องดูแลทารกตามวันเกิดคล้ายๆ กับภาคกลาง ส่วนภาคใต้มีด้วยกัน ๔ ตน แม่ซื้อเป็นสิ่งเร้นลับ ไม่มีตัวตน จะมีฐานะเป็นเทวดาหรือภูตผีก็ไม่ปรากฏชัดทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของทารก ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ ๑๒ ขวบ เป็นผู้หญิงชื่อ ผุด  ผัด พัด และผล

ขอบคุณ : วิกิพีเดีย / sanook