การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจมีความสำคัญ เพราะช่วยให้หัวใจมีสมรรถภาพที่ดี กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ดีขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ลดการสะสมของตะกรับที่หลอดเลือด ช่วยลดอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีและมีสุขภาพใจที่แข็งแรง
ผู้ป่วยโรคหัวใจควรเตรียมตัวในการออกกำลังกาย ดังนี้
1. ระยะเวลาในการออกกำลังกาย ควรอยู่ที่ประมาณ 30 นาทีต่อวัน จำนวน 5 วันต่อสัปดาห์
2. ไม่ออกกำลังกายหลังอิ่มอาหารทันที ควรรอให้ท้องว่างอย่างน้อย 1.30 ชั่วโมง
3. งดออกกำลังกายถ้ามีไข้ ท้องเสีย อาเจียน หรือร่างกายอ่อนเพลีย
4. ควรดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างและหลังออกกำลังกายเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ขณะออกกำลังกาย
5. สถานที่ออกกำลังกายเหมาะสม ควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่แออัด อากาศไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป สวมเสื้อผ้าที่ระบายถ่ายเทความร้อนได้ดี และสวมใส่รองเท้าที่สบาย
6. ควรมียาอมใต้ลิ้นขยายหลอดเลือดหัวใจติดตัว กรณีที่มีอาการเจ็บหน้าอกขณะออกกำลังกาย ควรหยุดและปรึกษาแพทย์
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรออกกำลังกายเพียงลำพัง เนื่องจากมีภาวะเสี่ยงต่อการวูบได้ง่าย จึงควรมีคนใกล้ชิดอยู่ใกล้ๆ พร้อมอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ หากเกิดอาการผิดปกติกับหัวใจแบบเฉียบพลัน
ขอบคุณ งานสุขศึกษา สถาบันโรคทรวงอก