นายแพทย์ธิติ แสวงธรม รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าขณะนี้ ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาอุทกภัย และบางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ปัญหาด้านสุขภาพที่ประชาขนต้องอาศัยอยู่บริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน คือ โรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา ซึ่งทำให้เกิดอาการคัน และอักเสบบริเวณเท้า โดยเฉพาะง่ามนิ้วเท้า นอกจากนี้ ยังมีโรคท้องเสีย จากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด และโรคไข้หวัด หรือไข้เปลี่ยนฤดูกาลที่มักจะมาพร้อมกันในช่วงนี้
ตามภูมิปัญญาด้านศาสตร์การแพทย์แผนไทย มีการนำสมุนไพรในครัวเรือนที่หาได้ง่าย ซึ่งเป็นที่ รู้จักกันทั่วไปมาใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้า คือ เหง้าข่า ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน นอกจากจะมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อและช่วยย่อยอาหารแล้ว ยังมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้ด้วย จากการศึกษวิจัยยังพบว่า เหง้าข่า มีสาระสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา พวกกลาก เกลื้อน และยีสต์ ที่เป็นสาเหตุของโรคน้ำกัดเท้า และมีความสอดคล้องกับองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย ในการนำเหง้าข่ามาใช้รักษาโรคดังกล่าว สำหรับวิธีการทำ ให้นำเหง้าข่าแก่มาทุบพอให้มีน้ำ จากนั้นนำมาทาบริเวณที่เป็นโรคน้ำกัดเท้า อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้า และ เย็น ทาจนกว่าจะหายเป็นปกติ แต่หากต้องการทำเป็นรูปแบบของ ยาทิงเจอร์ ให้นำข่าแก่มาทุบหยาบๆ แล้วใส่ลงในโหลแก้วที่สะอาด จากนั้นเติมแอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับล้างแผลลงไปพอท่วม ปิดฝาให้สนิท หมักไว้ 7 วัน หมั่นคนเช้า - เย็น เมื่อครบกำหนด ให้กรองเอาแต่น้ำแล้วบรรจุในภาชนะ พร้อมปิดฉลากให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการนำไปใช้ที่ไม่ถูกวัตถุประสงค์ สำหรับวิธีใช้ ให้ทาบริเวณที่เป็นโรคน้ำกัดเท้า หรือกลาก เกลื้อน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้า และ เย็น จนกว่าจะหายเป็นปกติ เมื่อหายดีแล้วให้ทาต่อไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าหายสนิท ส่วนอาการท้องเสีย ขอแนะนำเป็นให้ใช้ยาสมุนไพร คือ ยาเหลืองปิดสมุทร หรือยาธาตุบรรจบ ที่มีสรรคุณช่วยบรรเทาอากรท้องเสีย และช่วยขับลมในลำไส้ และอาการไข้เปลี่ยนฤดูกาล แนะนำให้ใช้ยาจันทน์ลีลา ซึ่งตำรับยาสมุนไพรที่แนะนำนี้ เป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถใช้สิทธิ์เบิกจ่ายได้ตามภูมิลำเนา
นายแพทย์ธิติ กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อป้องกันการเกิดโรคจาการเดินลุยน้ำท่วมขัง หรือมีความจำเป็นต้องแช่เท้าในน้ำนานๆ ท่านควรสวมรองเท้าบูธ และดูแลความสะอาดของเท้าอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ ง่ามนิ้วเท้า ระวังอย่าให้เกิดการอับชื้น และสวมถุงเท้าที่สะอาด ตากแดดให้แห้งทุกครั้งก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคหรือบรรเทาอากร ให้ปรึกษาแพทย์แผนไทยในสถานบริการสุขภาพของรัฐได้ทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊กและไลน์แอด กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ขอบคุณ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก