จากกรณี น.ส.ณัฎฐ์ทาน พุ่มย้อย อายุ 45 ปี ชาวบ้านพื้นที่หมู่ 1 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา พร้อมกับเพื่อน ได้นำผู้สื่อข่าวเข้าดูการเลี้ยงปูนา ที่เป็นระบบน้ำใส ทั้งการเลี้ยงแบบธรรมชาติ และแบบที่เลี้ยงบริเวณบ่อที่จัดสร้างขึ้น
หลังจากหันหลังให้กับงานประจำในเมืองหลวงเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเดินทางกลับมาบ้านเกิดของตนเอง และศึกษาการเลี้ยงปูนา รวมทั้งการแปรรูปปูนาเป็นรูปแบบต่าง ๆ นำออกจำหน่าย ซึ่งมีทั้งน้ำพริกตะไคร้ปูนากรอบ ขนมปั้นขลิบไส้ปูนา ที่มีทั้งไส้เค็ม ไส้หวาน และรสพริก ทั้งยังมีคุกกี้ปูนา ที่ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด จนสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 25,000-30,000 บาท
นอกจากนี้ น.ส.ณัฎฐ์ทาน เล่าวว่า เดิมแม่ของตนเองทำอ่องปูนาจำหน่ายอยู่แล้ว ตนเองจึงศึกษาการเลี้ยงปูนา โดยใช้วิธีเลี้ยงปูนาแบบน้ำใส ซึ่งจะมีปูนาอยู่ 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์พระเทพฯ และพันธุ์กำแพงเพชร ซึ่งเป็นปูนาที่มีความสวยงาม แข็งแรง ดูแลง่าย และในพื้นที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ต้องไปซื้อพ่อแม่พันธุ์ และหลังจากที่ทำการเพาะเลี้ยง ก็ได้คิดค้นการแปรรูปเพิ่มเติม
โดยเริ่มต้นที่น้ำพริกตระไคร้ปูนากรอบ จากนั้นก็พัฒนามาเป็นขนมปั้นขลิบไส้ปูนา ซึ่งมีไส้เค็ม ไส้หวาน และรสพริก ล่าสุดได้คิดค้นทำคุกกี้ปูนา รวมทั้งปูนาทอดกรอบ ส่วนการขายมีทั้งการนำไปฝากร้านค้า และขายผ่านทางโซเชียล
นอกจากนั้นยังขายในลักษณะพรีออเดอร์หรือการสั่งทำ ซึ่งหลังจากที่ทำขึ้นก็ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีมาก จนสินค้าของตนเองได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปของตำบล ภายใต้ยี่ห้อ “กินซะป๊ะปูนา” นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่เรียนรู้ในการเลี้ยงและแปรรูปปูนาอีกด้วย
ภาพข่าว จาก ศาสนพล พรมเสน สำนักข่าวเนชั่น จ.พะเยา