ไข้หวัดใหญ่คร่าชีวิต เตือนภัยภาวะปอดอักเสบ ที่หลายคนมองข้าม
จากไข้หวัดใหญ่สู่ภาวะปอดอักเสบ ภัยเงียบที่คร่าชีวิตและหลายคนมองข้าม มาดูวิธีสังเกตอาการและวิธีรับมือเบื้องต้นจากผู้เชี่ยวชาญ
“ไข้หวัดใหญ่” คร่าชีวิต หลายคนอาจมองข้ามและคิดว่า โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นเพียงอาการป่วยทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคนี้มีความรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังเช่นกรณีของ ต้าเอส (สวีซีหยวน) นักแสดงชื่อดังชาวไต้หวัน ที่เสียชีวิตอย่างกะทันหันขณะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา
เตือนภัยภาวะปอดอักเสบ การเสียชีวิตของนักแสดงสาวชื่อดัง ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถึงความอันตรายของโรคไข้หวัดใหญ่มากขึ้น เพราะถึงแม้ว่าอาการเริ่มแรกจะไม่ต่างจากไข้หวัดธรรมดามากนัก แต่เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายและพัฒนาไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่าง "ปอดอักเสบ" ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
ดังนั้น การป้องกันตัวเองจากโรคไข้หวัดใหญ่จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต
จากไข้หวัดใหญ่สู่ภาวะปอดอักเสบ ภัยเงียบที่ต้องเฝ้าระวัง
ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน เผยว่าภาวะปอดอักเสบ หรือ “ปอดบวม” เป็นอาการที่ต่อเนื่องมาจากโรคไข้หวัดใหญ่ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ร่างกายได้รับเข้าผ่านทางระบบทางเดินหายใจ โดยระดับความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันออกไป
โรคนี้พบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ที่มีประวัติโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ มักมีอาการรุนแรง สำหรับผู้ที่มีภาวะปอดอักเสบหรือปอดบวม จะมีอาการดังต่อไปนี้
- ไอ
- เจ็บคอ
- มีไข้สูง
- อ่อนเพลีย
- มีเสมหะสีเขียวหรือสีเหลือง
- รู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียน
- หายใจลำบาก
- เจ็บแน่นหน้าอก
อาการดังกล่าวมักเป็นเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักจะมีภาวะหายใจล้มเหลว และมีโอกาสเสียชีวิตได้ในที่สุด
วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และภาวะปอดอักเสบ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ทำร่างกายให้อบอุ่นในช่วงอากาศหนาวหรืออากาศเปลี่ยนแปลง
- ดูแลสุขลักษณะอนามัยเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ โดยไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี, หญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด), ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป, ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้, ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และโรคอ้วน น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมี BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวจึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันอาการรุนแรง
ข้อมูลอ้างอิง : กรมควบคุมโรค, โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลเปาโล