ในวันนี้ทางไทยนิวส์จะมาแนะนำวิธีการเตรียมพื้นที่ให้เหมาะแก่การปลูกยางพาราให้เติบโต และต้นแข็งแรงต้องศึกษาวิธีการปลูกให้ดี โดยวิธีการเตรียมพื้นที่ที่เราจะนำมาแนะนำ จะทำให้ยางพารามีระบบรากที่แข็งแรง และมีการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ
การเตรียมพื้นที่
โดยการไถพลิกดิน และเก็บเศษวัชพืชออกจากพื้นที่ให้หมด จากนั้นทำการไถพรวนซ้ำอีกครั้งเพื่อให้ดินร่วนและทำการปักไม้ชัมตามระยะปลูกที่กำหนด
เตรียมหลุมปลูก
โดยให้ขนาดของหลุมที่ใช้ปลูก มีความกว้าง ยาวและลึก เท่ากับ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร หลังจากนั้นให้ตากแดดทิ้งไว้ 10 ถึง 15 วัน เพื่อให้มีการย่อยของดินที่อยู่ชั้นบนผสมกับปุ๋ยหินร็อคฟอสเฟตในอัตรา 170 กรัมต่อหลุมคลุกเคล้าลงไปในหลุม
การเลือกสายพันธุ์ยางพารา
การเลือกสายพันธุ์ยางพารา เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการปลูก โดยสายพันธุ์ยางที่แนะนำให้ปลูกจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามวัตถุประสงค์ของการปลูกดังนี้
กลุ่ม 1 พันธุ์ยางผลผลิตน้ำยางสูง เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูงเป็นหลักการเลือกปลูกพันธุ์ยางใน กลุ่มนี้ ควรมุ่งเน้นผลผลิตน้ำยาง
กลุ่ม 2 พันธุ์ยางผลผลิตน้ำยางและเนื้อไม้สูง เป็นพันธุ์ที่ให้ทั้งผลผลิตน้ำยางและเนื้อไม้ โดยให้ ผลผลิตน้ำยางสูงและมีการเจริญเติบโตดี ลักษณะลำต้นตรง ให้ปริมาตรเนื้อไม้ในส่วนลำต้น สูง
กลุ่ม 3 พันธุ์ยางผลผลิตเนื้อไม้สูง เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเนื้อไม้สูงเป็นหลัก มีการเจริญเติบโตดีมาก ลักษณะลำต้นตรง ให้ปริมาตรเนื้อไม้ในส่วนลำต้นสูงมาก ผลผลิตน้ำยางจะอยู่ในระดับต่ำกว่าพันธุ์ยางในกลุ่มที่ 1 และ 2 เหมาะสำหรับเป็นพันธุ์ที่จะปลูกเป็นสวนป่าเพื่อการผลิตเนื้อไม้
การใส่ปุ๋ยยางพารา
การใส่ปุ๋ยเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ต้นยางพาราแข็งแรง และทำให้ผลผลิตที่ดี ดังนั้นผู้ที่ปลูกยางพาราควรศึกษาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใส่ปุ๋ยและสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับช่วงวัย โดยวิธีการใส่ปุ๋ยที่ดี จะต้องเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกในการปฏิบัติ และเมื่อใส่ปุ๋ยแล้วพืชสามารถดูดปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด โดยมีวิธีการใส่ปุ๋ยดังนี้
ใส่รองพื้น
นิยมใช้ปุ๋ยร๊อคฟอสเฟต ซึ่งเป็นปุ๋ยที่เคลื่อนไหวได้ยากเพราะถูกตรึงด้วยแร่ธาตุต่างๆ ในดิน โดยคลุกเคล้าปุ๋ยกับดินแล้วใส่ลงในหลุมก่อนปลูกยาง
ใส่แบบหว่าน
เป็นการหว่านปุ๋ยให้ทั่วบริเวณที่ต้องการใส่ปุ๋ย เหมาะสำหรับใช้กับพื้นที่ที่เป็นที่ราบ และมีการกำจัดพืชด้วยสารเคมีเพราะเศษซากพืชที่เหลือ จะช่วยป้องกันการชะล้างปุ๋ยในช่วงที่มีฝนตก แต่หากเป็นที่ราบที่กำจัดพืชด้วยวิธีถากควรไถคราดเพื่อให้ปุ๋ยเข้ากับดินด้วย และเพื่อป้องกันน้ำฝนชะล้างปุ๋ย
ใส่แบบเป็นแถบ
เป็นการใส่ปุ๋ยโดยการโรยเป็นแถบไปตามแนวแถวของต้นยางพาราที่อยู่ในร่องที่เซาะไว้ จากนั้นจึงทำการกลบ วิธีนี้จะใช้กับต้นยางพาราที่มีอายุ 17 เดือนขึ้นไป และยังเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีความลาดเทเล็กน้อยหรือพื้นที่ทำขั้นบันไดด้วย
ใส่แบบเป็นหลุม
เป็นการใส่ปุ๋ยโดยการขุดหลุมบริเวณรอบโคนหรือสองข้างของต้นยางประมาณ 2 ถึง 4 หลุมต่อต้น แล้วใส่ปุ๋ยลงในหลุมแล้วทำการกลบให้เรียบร้อย เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ลาดเทและไม่ได้ทำขั้นบันได
นอกจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งที่ควรคำนึงในการใส่ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็คือควรใส่ปุ๋ยในขณะที่ดินมีความชุ่มชื้นเพียงพอ และหลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยในช่วงที่มีอากาศแห้งแล้งหรือฝนตกชุกมากเกินไป
นอกจากนี้ควรจะกำจัดวัชพืชก่อนใส่ปุ๋ยทุกครั้ง หากต้องการให้ต้นยางพาราสมบูรณ์ แข็งแรง เจริญเติบโตดี สามารถเปิดกรีดได้เร็ว และให้ผลผลิตสูงอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะต้องมีการใส่ปุ๋ยให้กับต้นยางพาราอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มต้นปลูกไปจนถึงก่อนโค่นต้นยาง 3 ถึง 5 ปี โดยปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น