อ้อยพันธุ์ ขอนแก่น 3 ได้จากคู่ผสมระหว่างอ้อยโคลน 85-2-352 กับพันธุ์ K84-200 โดยการผสมข้ามพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ในปี พ.ศ.2537 ทำการเพาะเมล็ดและคัดเลือกครั้งที่ 1 (ลูกอ้อย) ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีในปี พ.ศ.2538-2539 คัดเลือกครั้งที่ 2 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นในปี พ.ศ.2540 คัดเลือกครั้งที่ 3 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นในปี พ.ศ.2541-2542 เปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้นที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นในปี พ.ศ.2544–2545 เปรียบเทียบมาตรฐานที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น และศูนย์วิจัยพืชไร่กาฬสินธุ์ ในปี พ.ศ.2545-2547 เปรียบเทียบและทดสอบในไร่เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ และนครราชสีมา ในปี พ.ศ.2547-2548 พบว่ามีผลผลิตสูงและสามารถปรับตัวได้ดีกับเขตใช้น้ำฝนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำการคัดเลือกและประเมินพันธุ์ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537-2551 รวมระยะเวลาการวิจัย 15 ปี
ลักษณะประจำพันธุ์
กอตั้งตรง กาบใบหลวม มี 6-12 หน่อต่อกอ ความยาวปล้องน้อยกว่า 10 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำ 2.72 เซนติเมตร มีไขปานกลางสีเหลืองเหลือบเขียวเมื่อไม่ต้องแสงและสีม่วงเหลือบเหลืองถึงน้ำตาล เมื่อต้องแสง ตารูปไข่ ใบมีลักษณะปลายโค้ง มีกลุ่มขนที่ขอบใบส่วนโคน ลิ้นใบเป็นแถบ ตรงกลางพองออก ปลายเรียวทั้ง 2 ข้าง หูใบด้านนอกรูปสามเหลี่ยม หูใบด้านในรูปใบหอกสั้น คอใบรูปสามเหลี่ยม ชายธงปลายคด ขนที่กาบใบน้อย จำนวนลำเก็บเกี่ยวในอ้อยปลูก 10,351 ลำต่อไร่ อ้อยตอ1 11,287 ลำต่อไร่ ผลผลิตน้ำตาลในอ้อยปลูก 2.64 ตันซีซีเอสต่อไร่ อ้อยตอ1 2.49 ตันซีซีเอสต่อไร่ ซีซีเอสในอ้อยปลูก 14.6 อ้อยตอ1 15.1
ลักษณะเด่น
ให้ผลผลิตสูง อ้อยปลูกมีน้ำหนักเฉลี่ย 18.1 ตันต่อไร่ และอ้อยตอ1 16.5 ตันต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 25 และ 28 ตามลำดับ ไม่ออกดอก ทำให้น้ำหนักและความหวานไม่ลดลง กาบใบหลวมเก็บเกี่ยวง่าย
พื้นที่แนะนำ
ปลูกได้ทั่วไปในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนปนทรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตปลูกอ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สนับสนุนโดย : ปุ๋ยทิพย์