ล่าสุดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ออกมาชี้แจงกรณีมีข้อมูลถูกแชร์กันว่อนในช่วงเดือนที่ผ่านมาว่า กินถั่วลิสงวันละ 1 กำมือ ช่วยรักษาอาการวัยทอง อารมณ์แปรปรวน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการแชร์ข้อมูลดังกล่าวและแชร์ส่งต่อกันมาแล้วช่วงหนึ่ง ระบุ ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องกินถั่วลิสงวันละ 1 กำมือ ช่วยรักษาอาการวัยทอง อารมณ์แปรปรวน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีข้อความบอกว่า กินถั่วลิสงวันละ 1 กำมือ ช่วยรักษาอาการวัยทอง อารมณ์แปรปรวน ทางสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ยังไม่มีงานวิจัยใดรองรับได้ว่า การรับประทานถั่วลิสง วันละ 1 กำมือ ทุกวันจะช่วยบำบัดและรักษาอาการวัยทองได้
โดยถั่วลิสงอุดมไปด้วยโปรตีน ไขมันไม่อิ่มตัว เส้นใยอาหาร และแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งช่วยลดระดับ ความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ รักษาและป้องกันโรคเบาหวาน ต้านมะเร็ง แต่ถั่วลิสงเป็นอาหารกลุ่มเสี่ยงที่มักตรวจพบสารพิษ ซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นสารพิษร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรงอย่างเฉียบพลัน หากได้รับในปริมาณมากอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งที่ตับ หัวใจ และสมองบวม อาจทำให้เกิดอาการชัก หายใจลำบาก และตับถูกทำลาย และสำหรับบางรายอาจมีอาการแพ้ถั่วลิสงได้
ถ้าหากไม่รุนแรง ก็อาจจะเป็นผื่นคันตามตัว เป็นลมพิษ รวมไปถึงอาจมีอาการอาเจียน ไอหอบ หายใจไม่สะดวก และมีอาการปวดท้อง แต่ถ้าหากมีอาการแพ้ขั้นรุนแรงอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ จึงขอแนะนำว่า ควรกินถั่วลิสงในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เกินวันละ 1 กำมือ (ประมาณ 30 กรัม) เนื่องจาก ถั่วลิสงนอกจากจะมีโปรตีน ไขมันไม่อิ่มตัว เส้นใยอาหาร และแร่ธาตุต่าง ๆ ยังมีพลังงานสูง หากกินเยอะเกินไปจะทำให้ได้รับพลังงานเกิน
สำหรับกลุ่มอาการวัยทอง ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีความหลากหลาย และมีปริมาณ ที่เหมาะสม กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน และกินอาหารจำพวกพืชที่มีสารไฟโตเอสโตเจน (Phytoestrogen) เพื่อรักษาสมดุลฮอร์โมนเพศ
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่มีงานวิจัยใดรองรับได้ว่า การรับประทานถั่วลิสง วันละ 1 กำมือ ทุกวันจะช่วยบำบัดและรักษาอาการวัยทองได้
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ