กรณีแชร์ว่อน "น้ำดื่มผสมเบกกิ้งโซดา ช่วยรักษาอาการหวัดได้" ล่าสุด ตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันแล้วว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเท็จ ไม่ใช่ความจริง ขอความร่วมมือประชาชนอย่าแชร์ส่งต่อข้อมูลที่ผิดออกไปในโลกออนไลน์ ระบุ
ข่าวปลอม อย่าแชร์! น้ำดื่มผสมเบคกิ้งโซดา ช่วยรักษาอาการหวัดได้
ตามที่มีคำแนะนำด้านสุขภาพเรื่องน้ำดื่มผสมเบคกิ้งโซดา ช่วยรักษาอาการหวัดได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีผู้โพสต์ให้ข้อมูลว่า เบกกิ้งโซดาสามารถช่วยรักษา และใช้ต่อต้านทั้งโรคหวัดหรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า เบคกิ้งโซดาหรือโซเดียมไบคาร์บอเนตที่มักนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำเบเกอรี่ ไม่มีสรรพคุณที่เกี่ยวข้อง และการดื่มน้ำผสมเบคกิ้งโซดาก็ไม่มีผลในการรักษาโรคใด รวมถึงไม่สามารถรักษาโรคหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ได้ ซึ่งไข้หวัด (common cold) และไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อทางการหายใจ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส สามารถสรุปความแตกต่างเบื้องต้นของไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ได้ดังนี้
- ไข้หวัด เกิดจากเชื้อไวรัสหลายชนิดในกลุ่ม Rhinovirus ผู้ป่วยมักมีอาการ คัดจมูก มีน้ำมูก ไอ จาม เจ็บคอ อาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีอาการ โดยทั่วไปไม่รุนแรง มักจะดีขึ้นและหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์
- ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อ Influenza virus ผู้ป่วยมักมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว หรือปวดกล้ามเนื้อมาก อ่อนเพลีย และมีอาการไอเจ็บคอร่วมด้วย
โดยวิธีรักษา คือ พักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมาก ๆ โดยอาจใช้ยาบรรเทาอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ คัดจมูก หรือยาแก้ไอ หากอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : เบคกิ้งโซดาหรือโซเดียมไบคาร์บอเนตที่มักนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำเบเกอรี่ ไม่มีสรรพคุณที่เกี่ยวข้อง และไม่มีผลในการรักษาโรคใด รวมถึงไม่สามารถรักษาโรคหวัด/ไข้หวัดใหญ่ได้
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข