ทุกคนเคยสับสนกันไหมว่า มะปราง กับมะยงชิด มันคือผลไม้ชนิดเดียวกันหรือไม่ เพราะหน้าตาก็เหมือนกัน รสชาติก็คล้ายกันแล้วทำไมเรียกต่างกัน อาจจะคิดว่าเป็นเพราะภาษาถิ่นที่แตกต่างแต่ละพื้นที่จึงเรียกไม่เหมือนกันใช่ไหม ขอบอกเลยว่าไม่ใช่ ความจริงแล้วแม้ทั้ง 2 อย่างจะหน้าตาเหมือนกันแต่ก็มีความแตกต่างอยู่ทำให้เรียกกันคนละชื่อ แล้วแยกยังไง มีคำตอบ
1. มะปราง (Bouea macrophylla Griff.)
จากฐานข้อมูล The Plant List ที่ได้รีวิวเมื่อปี 2012 ยังจำแนกแยกมะปรางกับมะยงชิดออกจากกัน เช่นเดียวกับการจำแนกของกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สายพันธุ์มะปรางมีความหลากหลายสูงมาก เนื่องจากสมัยก่อนปลูกด้วยเมล็ดและมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีรสชาติดีเอาไว้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่าง สายพันธุ์มะปรางที่เป็นรู้จัก เช่น พันธุ์ท่าอิฐ พันธุ์แม่ระมาด พันธุ์ลุงชิด พันธ์ทองใหญ่ พันธุ์ทองนพรัตน์ พันธุ์สุวรรณบาตร พันธุ์ลุงพล พันธุ์ลุงประทีป พันธุ์ไข่ห่าน พันธุ์อีงอน พันธุ์เพชรคลองลาน พันธุ์เพชรหวานกลม พันธุ์แม่อนงค์ พันธุ์เพชรหวานยาว พันธุ์เพชรนพเก้า พันธุ์เพชรเหรียญทอง พันธุ์ทองใหญ่ พันธุ์หวานไข่ทอง เป็นต้น
2. มะยงชิด (Bouea oppositifolia (Roxb.) Meisn.)
เมื่อสุกจะมีสีเหลืองส้ม ในอินโดนีเซียพบผิวสีแดงก็มี มะยงชิดที่มีรสเปรี้ยว ถูกเรียกว่า "มะยงห่าง" ซึ่งหมายถึงห่างจากความหวานนั้นเอง มะยงชิดมีรสเปรี้ยวอมหวาน ขนาดผลเท่าๆกับมะปรางไปจนถึงใหญ่กว่าไข่ไก่ก็มี เมื่อก่อนชาวสวนปลูกโดยใช้เมล็ดจึงทำให้เกิดสายพันธุ์หลากหลายมาก พันธุ์ไหนรสชาติถูกปากก็ทำเป็นกิ่งตอนหรือทาบกิ่งขยายพันธุ์ไปปลูกอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ที่ลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันออก ไปจนถึงภาคเหนือ และภาคใต้ คาดการณ์ว่าอีกไม่นานผลไม้นี้จะกลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของไทย และหลายประเทศในภูมิภาคนี้
สายพันธุ์ "มะยงชิด" หลากหลายมากเช่นกัน ตัวอย่างสายพันธุ์ที่รู้จัก เช่น พันธุ์บางขุนนนท์ พันธุ์ท่าด่าน พันธุ์ชิดสง่า พันธุ์ชิดบุญส่ง พันธุ์เพชรกลางดง พันธุ์ทูลเกล้า พันธุ์เพชรชากังราว พันธุ์ทองใหญ่หัวเขียว พันธุ์สีทอง พันธุ์ชิดสาลิกา พันธุ์เจ้าสัว พันธุ์พูลศรี พันธุ์ลุงฉิม พันธุ์พระอาทิตย์ พันธุ์สวนนางระเรียบ พันธุ์สวนนางอ้อน พันธุ์ลุงยอด พันธุ์ลุงเสน่ห์ พันธุ์ดาวพระศุกร์ เป็นต้น
การศึกษาคุณค่าทางโภชนาการ โดย กรมอนามัย พบว่า "มะยงชิด" มีเบต้าแคโรทีน และวิตามินซีสูง ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน การรับประทานผลไม้กลุ่มนี้จึงช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้ไม่เจ็บป่วยง่าย เช่น โรคหวัด เป็นต้น
วิธีแยกแบบง่ายๆ มะปราง ผลค่อนข้างเรียว มีผลเล็กกว่ามะยงชิด ตอนสุกเป็นสีเหลืองอ่อนๆ รสหวาน กินเข้าไปจะค่อนข้างระคายคอ
มะยงชิด ผลใหญ่กว่ามะปราง รสชาติหวานอมเปรี้ยว บางผลขนาดใหญ่กว่าไข่ไก่ เมื่อสุกมีสีเหลืองอมส้ม กินแล้วระคายคอน้อยกว่ามะปรางนั่นเอง