เปิดข้อมูลน่าตกใจ ดื่มน้ำหวานมากกว่าน้ำเปล่า มีโอกาสเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์ เปิดข้อมูลยืนยันโดย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ใครสายน้ำหวานต้องรู้ ระวังอร่อยปากลำบากสุขภาพในวันข้างหน้า ทางทำกินขอเตือน กินอย่างพอดี ไม่มากจนเกิดไปเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง
โดยทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ตามที่มีข้อมูลในเรื่องดื่มน้ำหวานมากกว่าน้ำเปล่า มีโอกาสเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
น้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่ร่างกายของเราต้องการในแต่ละวัน เพื่อดูแลอวัยวะต่าง ๆ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยสภาวะปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ความเร่งรีบในการใช้ชีวิต การทำงานหรือกิจกรรมที่เราต้องจดจ่อสมาธิมากเป็นพิเศษจนทำให้หลงลืมที่จะดูแลตัวเอง เนื่องจากประเทศไทยมีอากาศค่อนข้างร้อน ผู้คนส่วนใหญ่จึงดื่มน้ำเพื่อคลายร้อนกัน แต่มีบางคนที่ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า แต่เลือกดื่มน้ำที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีโอกาสให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป อีกทั้งในช่วงที่มีอากาศร้อนผู้คนจึงหลีกเลี่ยงที่จะออกกำลังกาย จึงทำให้น้ำตาลที่สะสมในร่างกายสะสมเป็นไขมัน ทำให้เกิดไขมันในเลือดสูงได้ ซึ่งภาวะเช่นนี้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ได้ ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำเปล่าให้มากกว่าน้ำที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ซึ่งการดื่มน้ำเปล่ามีข้อดี ดังต่อไปนี้
1. ช่วยร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ดื่มน้ำตอนเช้าจะช่วยให้สมองได้รับการกระตุ้นหลังจากตื่นนอน เพิ่มสมาธิในการเริ่มวันใหม่
3. ดื่มน้ำก่อนทานอาหาร 30 นาที จะช่วยให้ทานอาหารได้น้อยลง และย่อยง่ายขึ้น
4. ดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหารช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดน้ำหนัก สำหรับใครที่อยากลดน้ำหนัก การดื่มน้ำมีส่วนช่วยในการกระบวนการเผาผลาญไขมันได้ดี
5. การดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย มีส่วนช่วยให้ลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะน้ำนั้นจะเข้าไปลดความหนืดข้นของเลือด ช่วยระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เลือดของเราไหลเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. การดื่มน้ำช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื่น สุขภาพดี
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.anamai.moph.go.th หรือ โทร. 02-590-4000
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข