กุ้ง สุกได้เพราะมะนาว จริงหรือไม่ ไขคำตอบไปกับเรา ทางทำกิน หลายๆคนที่ทำอาหารหรือดูรายการอาหารต่างๆคงเคยเห็นหรือได้ยินคำว่า "กุ้งสุกมะนาว" คือการที่บีบมะนาวใส่กุ้งแล้วเนื้อกุ้งเปลี่ยนเป็นสีส้ม แบบนั้นเท่ากับว่ากุ้งสุกแล้วจริงไหม วันนี้มีคำตอบ ไปดูพร้อมกัน กุ้งโดนน้ำมะนาวสุกหรือยัง
ในเพจ วิทย์สนุกรอบตัว ให้ความรู้ที่จะช่วยไขคำตอบของเรื่องนี้เอาไว้ ยืนยันว่า "การบีบมะนาวแล้วทำให้กุ้งมีสีส้ม กุ้งไม่ได้สุกนะครับ แค่เปลี่ยนสี"
ทางเพจโพสต์ว่า "เคยสังเกตกันไหม เวลาที่เอากุ้งไปทำอาหาร ไม่ว่าจะเผา หรือ ต้ม กุ้งจะเปลี่ยนสีจากสีน้ำเงินดำตามธรรมชาติเป็นสีส้มแดง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น วันนี้เพจวิทย์สนุกมีคำตอบมาให้ค่ะ ส่วนความเชื่อที่ว่าการบีบมะนาวก็ทำให้กุ้งสุกเช่นกัน เพราะทำให้กุ้งเปลี่ยนเป็นสีส้ม เป็นความเชื่อที่ผิด กุ้งแค่เปลี่ยนสีแต่ก็ยังคงดิบอยู่เช่นเดิม การรับประทานอาจนำมาสู่การถ่ายท้องเนื่องจากเกิดอาหารเป็นพิษได้ค่ะ"
ประโยชน์ของกุ้ง ที่อุดมคุณค่าทางโภชนาการ กุ้ง กินแล้วดียังไง รวมสุดยอดประโยชน์ เปี่ยมไปด้วยสารอาหารดีๆเต็มเปี่ยม ทางทำกินรวมมาให้แล้ว 6 ข้อด้วยกัน กุ้ง ช่วยเรื่องอะไรบ้าง
1. อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
กุ้งอุดมไปด้วยโคลีน (Choline) ที่สามารถลดระดับของสารโฮโมซิสทีน (Homocysteine) ซึ่งถ้าร่างกายมีสารชนิดนี้สูงเกินไป อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
นอกจากนั้น ไขมันจากกุ้งส่วนใหญ่คือกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และที่สำคัญคือกุ้งแทบจะไม่มีไขมันอิ่มตัวที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย
2. ช่วยบำรุงครรภ์เพื่อสุขภาพที่ดีของแม่และลูกน้อย
กุ้งมีสารอาหารที่จำเป็นต่อคนท้องหลายชนิด เช่น วิตามินบี 12 ไอโอดีน ธาตุสังกะสี (Zinc) แคลเซียม โคลีน โปรตีน และธาตุเหล็ก ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจางและการสูญเสียมวลกระดูกในคนท้อง
นอกจากนั้น กุ้งยังมีโอเมก้า 3 ที่อาจมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างสมองและดวงตาของทารกในครรภ์ รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดและการเสียชีวิตของทารกในครรภ์อีกด้วย
3. มีประโยชน์ต่อสมอง
การกินกุ้งอาจส่งผลดีต่อสมอง เพราะกุ้งเป็นแหล่งของโคลีนซึ่งอาจมีส่วนช่วยต่อระบบความจำ กระบวนการคิด และการตัดสินใจ (Cognitive Function) นอกจากนี้กุ้งยังสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันคริลล์ (Krill Oil) ที่อาจสามารถช่วยป้องกันการเสื่อมของระบบประสาทได้ เนื่องจากในน้ำมันคริลล์มีสารแอสตาแซนธิน (Astaxanthin) และกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีความสำคัญต่อสมอง
4. เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
นอกจากกุ้งจะมีแร่ธาตุมากมายที่ช่วยรักษาสุขภาพของกระดูกอย่างแคลเซียม แมกนีเซียม และซีลีเนียมแล้ว กุ้งยังเป็นสุดยอดแหล่งโปรตีนที่สำคัญอีกด้วย ซึ่งโปรตีนมีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ
5. ช่วยควบคุมน้ำหนัก
กุ้งสุกปริมาณ 100 กรัม มีปริมาณไขมันไม่ถึง 1 กรัม และให้พลังงานเพียง 99 กิโลแคลอรี่ จึงเหมาะกับผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนักเพราะมีไขมันต่ำและให้พลังงานน้อย ในขณะที่มีปริมาณโปรตีนสูงถึง 24 กรัม ซึ่งโปรตีนจะช่วยให้อิ่มได้นาน ควบคุมความอยากอาหาร และช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อไม่ให้หายไปในระหว่างการลดน้ำหนัก เพราะหากมวลกล้ามเนื้อลดลงก็จะส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยลงด้วย
6. ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง
กุ้งมีสารต้านอนุมูลอิสระชื่อว่าแอสตาแซนธิน เป็นสารสีส้มแดงที่อยู่ในสาหร่ายขนาดเล็กซึ่งเป็นแหล่งอาหารของกุ้ง ซึ่งสารตัวนี้จะช่วยป้องกันการอักเสบจากการถูกอนุมูลอิสระทำลายเซลล์ในร่างกาย และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง