ถึงแม้ว่าโรคกระเพาะอาหารอักเสบจะไม่ใช่โรคที่รุนแรง แต่ผู้ป่วยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะว่าหากปล่อยไว้เรื้อรังอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีเลือดไหลในกระเพาะอาหาร จนเกิดภาวะแทรกซ้อน อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย!
สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
สาเหตุการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบยังไม่ทราบได้อย่างชัดเจน แต่พบว่าส่วนใหญ่มักมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ดังนี้
. การติดเชื้อแบคทีเรียนเอชไพโลไร (H.pylori)
. การรับประทานยากลุ่มยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น
. สาเหตุอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
นอกจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบมากขึ้น เช่น การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา การรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ ภาวะความเครียด ความวิตกกังวล การรับประทานอาหารที่ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้
อาการโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
อาการแสดงของผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกัน แม้ว่าจะมีอาการไม่ร้ายแรง แต่หากเกิดขึ้นนานเป็นสัปดาห์หรือมากกว่านั้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
. ปวด เสียด ตื้อ จุก และแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่
. ปวดท้อง รู้สึกไม้สบายช่องท้องส่วนบน
. ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอบ่อย
. ปวดท้องก่อนและหลังรับประทานอาหาร
. ปวดท้องตอนท้องว่างหรือปวดท้องกลางดึก
. มีอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ
. คลื่นไส้หรืออาเจียนหลังรับประทานอาหาร
. อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
. ไม่มีความอยากอาหาร เบื่ออาหาร และอาจผอมลง
การรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการดูแลรักษาที่ดี และผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเอง แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติท เช่น การตรวจโดยการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร (Gastroscope: EGD) เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธี
อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง ดังนี้
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและโภชนาการ ได้แก่ รับประทานอาหารตรงเวลาทุกมื้อ รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
. งดสูบบุหรี่ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น
. ไม่เครียดหรือวิตกกังวล และพักผ่อนให้เพียงพอ
. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้องและสม่ำเสมอ
. ไม่ซื้อยารับประทานเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร
ที่มา : https://www.sikarin.com/health