ตรวจรับบ้านด้วยตนเอง เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของคนที่ซื้อบ้านหรือซื้อคอนโด จะต้องให้ความสำคัญและใช้ความละเอียดถี่ถ้วนมากๆ เพื่อให้โครงการแก้ไขจุดบกพร่องให้เรียบร้อยก่อน เพราะหากผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้ว นั่นหมายถึงการยอมรับสภาพบ้านหรือคอนโดที่โครงการขายให้เราอย่างสมบูรณ์ ซึ่งถ้าหากมีการรับโอนเรียบร้อยแล้ว การจะแจ้งให้โครงการดำเนินการแก้ไขตำหนิ หรือข้อผิดพลาดภายในตัวบ้านนั้น จะกลายเป็นเรื่องยากทันที นอกจากนี้ยังอาจทำให้ล่าช้า หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น
ทั้งนี้ หลายๆคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่าการตรวจรับบ้านต้องตรวจอะไร และมีอะไรที่ต้องเช็กบ้าง ไทยนิวส์ออนไลน์ได้รวมลิสต์รายการตรวจรับบ้านฉบับด้วยตนเอง
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมก่อนเข้าไปตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง
1. กล้องถ่ายรูป หรือ กล้องถ่ายรูปในโทรศัพท์มือถือใ ช้สำหรับการเก็บบันทึกภาพในมุมต่างๆ เป็นหลักฐานประกอบการแจ้งซ่อม
2. แปลนของบ้าน เพื่อให้รู้ตำแหน่งทุกห้องทุกมุมของตัวบ้านและไล่ตรวจได้ครบทุกพื้นที่ หรือถ้าสามารถเตรียมผังที่ดินไปได้ก็ควรนำไปด้วย เพื่อจะได้สามารถตรวจสอบผังที่ดินได้ด้วย
3. อุปกรณ์จดบันทึก ได้แก่ ปากกา ดินสอ สมุดจดบันทึก เพื่อจดบันทึกข้อมูลในประเด็นต่างๆ ที่จะพูดคุยสอบถามเป็น Checklist รวมถึงจดบันทึกข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบส่วนต่างๆ เอาไว้
4. ตลับเมตร เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะจะใช้ในการวัดความยาวของโครงสร้างและอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ควรเข้าไปพูดคุยแบบกะหรือการประมาณ แต่ควรใช้เครื่องมือในการวัดและจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
5. ไม้บรรทัด สำหรับวัดความยาวในระยะสั้นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตลับเมตรและยังมีประโยชน์ในการตรวจสอบระนาบด้วยว่ามีความราบเรียบหรือไม่
6. ไขควงวัดไฟ เป็นอุปกรณ์อันเล็กๆที่สำคัญมากเอาไว้ใช้สำหรับตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในตัวบ้าน ซึ่งข้อควรระวังคือต้องใช้อย่างรอบคอบและคำนึงถึงความปลอดภัยอยู่เสมอ และทุกครั้งที่ต้องการตรวจสอบระบบไฟค วรสวมถุงมือยางเพื่อเป็นฉนวนป้องกันไฟด้วย
7. อุปกรณ์ทำเครื่องหมาย เช่น กระดาษ Post it , ชอล์กเขียน , เทปพันสายไฟ , เทปกาวชนิดลอกออกง่ายโดยไม่ทำให้พื้นผิววัสดุเสียหาย ฯลฯ
8. ไฟฉายพกพา สำหรับใช้ส่องบริเวณพื้นที่มืดอย่างบนฝ้าเพดาน ช่องท่องานระบบต่างๆ และใช้ส่องเช็dสีและความเรียบร้อยของพื้นผิววัสดุ
ต้องเช็กอะไรบ้างเวลาตรวจรับบ้าน
1. ตรวจสอบระบบไฟภายในบ้าน เป็นการตรวจสอบว่าสวิตช์และเต้ารับทุกจุดภายในบ้านสามารถใช้งานได้จริง แนะนำให้ใช้เครื่องตรวจสอบเบรกเกอร์ตัดไฟรั่วไหล หรือ ELCB Tester เพื่อทดสอบว่าระบบไฟภายในบ้านสามารถจ่ายไฟได้ปกติหรือไม่ พร้อมทั้งทดสอบความถูกต้องของการเดินสายไฟ สายดิน และระบบตัดไฟ ทั้งนี้ การใช้อุปกรณ์ตรวจสอบระบบไฟภายในบ้านอย่าลืมศึกษาวิธีการใช้อย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
2. ตรวจสอบระบบน้ำภายในบ้าน แบ่งออกเป็น 3 ที่หลักๆ ได้แก่
- ห้องน้ำ ตรวจสอบการรั่วซึมและแรงดันของก๊อกน้ำ ฝักบัว และชักโครก พร้อมทั้งเช็คว่าชักโครกตันหรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือไม่ ตรวจสอบความลาดเอียงของพื้นในห้องน้ำเพื่อดูว่าน้ำสามารถระบายลงท่อได้ และไม่ท่วมขังในห้องน้ำ
- ระบบท่อ ตรวจสอบระบบท่อว่ามีรอยแตกร้าว รั่วซึม และมีการต่อท่อไปบ่อพักหรือไม่ และอย่าลืมที่จะสังเกตกลิ่นไม่พึงประสงค์เมื่อราดน้ำลงท่อ
- มิเตอร์น้ำ ตรวจสอบว่าระหว่างที่ไม่ได้ใช้น้ำ เข็มมิเตอร์น้ำทำงานหรือไม่
3. ตรวจสอบโครงสร้างและผนังห้อง ต้องไม่มีรอยแตกร้าว และผนังบ้านควรเรียบได้ระนาบเดียวกัน ถ้าหากพบเห็นรอยแตกร้าว หรือตำหนิตามผนังหรือโครงสร้างให้คุณหาโพสอิทมาแปะไว้ เพื่อให้ทางโครงการดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนเซ็นรับโอนบ้าน และในกรณีที่ผนังติดวอลล์เปเปอร์ให้ใช้ไฟฉายส่องเพื่อดูความเรียบเนียนของวอลล์เปเปอร์
4. ตรวจสอบพื้นบ้าน ถ้าหากพื้นบ้านปูด้วยกระเบื้องสามารถทดสอบพื้นบ้านได้ด้วยการเคาะเพื่อฟังเสียงด้วยค้อนยางหรือไขควงไม้ ถ้ากระเบื้องแผ่นไหนเคาะแล้วมีเสียงแตกต่างจากกระเบื้องแผ่นอื่นๆ หรือเคาะแล้วกระเบื้องสั่น หมายความว่าปูนกาวของกระเบื้องแผ่นนั้นๆ ไม่แน่นพอ และที่สำคัญกระเบื้องต้องไม่แตกร้าวและไม่แอ่น นอกจากนี้ในกรณีที่ปูพื้นด้วยไม้ลามิเนต หรือ พื้นไม้ พื้นต้องเรียบระนาบเท่ากัน ไม่บวม และไม่โก่ง
5. ตรวจสอบเพดานบ้าน เพดานทั้งแผ่นต้องเรียบเนียน ไม่แอ่น หรือโก่งงอ สีที่ทาต้องเรียบเนียนทั้งแผ่นไม่มีบริเวณที่สีโดดออกมา และไม่เลอะคราบปูน นอกจากนี้อย่าลืมตรวจสอบการรั่วซึมของฝ้าเพดาน พร้อมทั้งเช็คความเรียบร้อยของการเดินสายไฟ
6. ตรวจสอบหลังคาบ้าน การตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำจากหลังคาเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญของการตรวจบ้าน โดยสังเกตจากคราบน้ำที่เพดาน หรือ รอยหยดน้ำที่พื้น ถ้าหากหลังคาบ้านรั่วซึมจะถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่และแก้ค่อนข้างยาก และตรวจว่าได้มีการติดตั้งฉนวนกันความร้อนเต็มพื้นที่ตามที่ตกลงหรือไม่
7. ตรวจสอบประตูหน้าต่าง ควรเช็กประตูและหน้าต่างทั้งหมดของตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น บานพับ กลอน และวงกบ ว่าสามารถใช้งานได้ปกติ ปิดได้สนิท เลื่อนแล้วไม่ติดขัด พร้อมทั้งเช็คว่าตัวบานประตูและหน้าต่างขูดกับพื้นหรือเพดานหรือไม่
8. ตรวจสอบบันได ควรตรวจว่าตัวราวบันไดติดตั้งในตำแหน่งที่จับได้ถนัดและแข็งแรงไม่โยกเยกไปมา พร้อมทั้งเช็กว่าเวลาเหยียบพื้นบันไดแล้วพื้นไม่ยุบลง ถ้าหากพื้นบันไดยุบลงต้องให้ทางโครงการดำเนินการแก้ไขทันที และพื้นบันไดทุกขั้นต้องมีขนาดเท่ากัน
9. ตรวจสอบรอบตัวบ้าน ต้องไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ บริเวณลานจอดรถต้องไม่พบร่องรอยการทรุดตัวของพื้น พร้อมทั้งตรวจสอบประตูรั้วโครงสร้างประตูต้องแข็งแรง ทนทาน บานเลื่อนและล้อต้องไม่ฝืดหรือลื่นเกินไป