จัดรูปที่ดินในกรุงเทพฯ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต?

05 มิถุนายน 2566

เดินหน้าจัดรูปที่ดินในกทม. หวังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นได้จริงหรือไม่

กำลังได้รับบความสนใจอย่างมากในขณะนี้ เนื่องจาก กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับการจัดรูปที่ดินมาโดยตลอด โดยเชื่อว่าการจัดรูปที่ดินที่ดีจะทำให้ผังเมืองของเมืองดีขึ้น และจะทำให้การใช้ที่ดินเฉลี่ยเกิดผลในระยะยาว ซึ่งก็อยากทำให้เป็นรูปธรรมแต่ในเชิงการปฏิบัติอาจจะไม่ง่ายนัก

จัดรูปที่ดินในกรุงเทพฯ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต?

 

 

เหตุผลเพราะประชาชนยังไม่เข้าใจและเกรงว่าที่ดินบางส่วนจะต้องแบ่งออกไปเพื่อนำไปพัฒนา สาธารณูปโภค รวมถึงยังไม่มั่นใจว่าที่ดินที่ถูกตัดแบ่งไป เอาเข้าจริงแล้วจะสร้างมูลค่าเพิ่มบนที่ดินที่เหลืออยู่จริงหรือไม่ ที่สำคัญการอยู่ร่วมกัน เป็นกลุ่มบนที่ดินแปลงเดียวกัน จะมีปัญหาตามมาในภายหลังหรือไม่ ขณะผลดีการจัดรูปที่ดินช่วยแก้ปัญหาที่ดินตาบอดไม่มีทางเข้าออก และทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มได้


ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า ในการประชุม คณะกรรมการได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ของการจัดรูปที่ดิน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับที่ดินตาบอดหรือที่ดินที่ซึ่งไม่มีทางเข้า-ออก


โดยที่ดินดังกล่าวเป็นผลเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การจัดรูปที่ดินจะเป็นการพัฒนาที่ดินทั้งบริเวณ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ เป็นการยกระดับมูลค่าที่ดิน ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ทั้งนี้จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินทั้งภาครัฐและเอกชนในกระบวนการจัดรูปที่ดินก่อน

 

จัดรูปที่ดินในกรุงเทพฯ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต?

จากนั้น ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ด้วยวิธีการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
1.พื้นที่บริเวณด้านข้างสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 เขตพระโขนง
2.พื้นที่บริเวณหลังซอยบรมราชชนนี 79 เขตตลิ่งชัน
3. พื้นที่บริเวณซอยบางแวก 38-40 แขวงบางแวก เขตภาษีเจริญ


ทั้งนี้ได้รับทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่ติดทะเลจุดเดียวของกทม. โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ได้รายงานแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณใต้แนวคลองโล่งถึงแนวกัดเซาะ เขตบางขุนเทียน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดทะเลจุดเดียวของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันถูกกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง แปลงที่ดินเอกชนทั้งหมด รวม 4,361 ไร่ โดนกัดเซาะไปแล้ว 269 ไร่ กทม.โดยสำนักการระบายน้ำ ได้ดำเนินโครงการทำแนวกันหิน


เพื่อเพิ่มการตกตะกอนและพื้นที่ป่าชายเลนให้มากขึ้น สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ สำนักการวางผังฯ ได้นำแนวทางมากจากcase study จากต่างประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ และจีน โดยเน้นการรักษาระบบนิเวศเดิม ให้คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้คณะกรรมการได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงให้เจ้าของที่ดินเห็นประโยชน์ของการจัดรูปที่ดิน รวมถึงดำเนินการเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งควบคู่ไปด้วย และหาพื้นที่อื่นเป็นทางเลือก หากไม่สามารถดำเนินการในบริเวณดังกล่าวได้

 

"กทม.อยากจะทำพื้นที่ตะวันออกให้เป็นเมืองใหม่ หรือพัฒนาพื้นที่โครงการใกล้รถไฟฟ้าให้เป็นเมืองใหม่ ซึ่งจะรับคำแนะนำจากคณะกรรมการไปพิจารณาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ รวมถึงต่อไปจะมีการประชุมให้บ่อยขึ้นเพื่อให้เกิดความคืบหน้าในการทำงาน" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว


การประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ในคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง (5) แห่งพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 จำนวน 3 คน เนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่ง โดยดำเนินการสรรหาเบื้องต้นแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้แทนจากสถาบันหรือองค์การที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ และกลุ่มผู้มีคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่

 

อย่างไรก็ตาม ผลการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิปรากฎว่า ผศ.ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ผู้มีคุณวุฒิด้านการพัฒนาเมือง และ รศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ผู้มีคุณวุฒิด้านกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้รับคะแนนสูงสุด ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป

จัดรูปที่ดินในกรุงเทพฯ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต?