"โรคต่อมลูกหมากในสุนัข" พบได้บ่อยในสุนัขเพศผู้!

09 มีนาคม 2566

สุนัขเพศผู้พออายุมากอาจประสบปัญหาเหล่านี้ เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริดกะปรอย มีเลือดปนกับปัสสาวะ รวมถึงอาจมีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วย หลายตัวมีอาการเบ่งอุจจาระนาน อุจจาระยาก ซึ่งอาการเหล่านี้บ่งบอกถึงอาการของ โรคต่อมลูกหมากโตในสุนัขเพศผู้

โรคต่อมลูกหมากโต หรือ benign prostatic hyperplasia (BPH)

เป็นโรคที่มีความสำคัญทางระบบสืบพันธุ์สุนัขเพศผู้ เรียกได้ว่าเป็นโรคของสุนัขแก่เลยก็ได้ พบได้บ่อยในสุนัขเพศผู้ที่มีอายุมากที่ยังไม่ได้ทำหมัน 

สาเหตุโรคต่อมลูกหมากโต

สาเหตุที่แน่ชัดของโรคต่อมลูกหมากโต ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าสาเหตุของโรคเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ (แอนโดรเจนและเอสโตรเจน) ซึ่งสุนัขที่ทำหมันแล้ว ต่อมลูกหมากจะฝ่อเล็กลง และไม่พบว่ามีปัญหาต่อมลูกหมากโตชนิด benign prostatic hyperplasia อีก (เนื่องจากตัดอวัยวะหลักที่สร้างฮอร์โมนเพศออกไปแล้ว) โดยมากสุนัขที่มีปัญหาต่อมลูกหมากโตเล็กน้อย มักไม่แสดงอาการทางคลินิก จนกว่าต่อมลูกหมากจะโตขึ้นกว่าปกติ 3-5 เท่าขึ้นไป

"โรคต่อมลูกหมากในสุนัข" พบได้บ่อยในสุนัขเพศผู้!

อาการของโรคต่อมลูกหมากโต

อาการผิดปกติที่พบเช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะบ่อยแต่ปริมาณไม่มาก มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ และอาจมีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วย หลายรายมักมีของเหลวปนเลือดหยดออกจากปลายอวัยวะเพศ มีอาการท้องผูก เบ่งถ่ายอุจจาระนานด้วยความทรมาน เนื่องจากต่อมลูกหมากที่โตขึ้นกดท่อทางเดินปัสสาวะและนูนขึ้นจนไปกดส่วนของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย นอกจากนั้น สุนัขอาจมีอาการก้าวเดินลำบากเนื่องจากมีความเจ็บปวดของต่อมลูกหมากอีกด้วย หากไม่ได้รับการรักษาอาการของโรคจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขนาดขึ้นของต่อมลูกหมากจนเกิดปัญหาอื่นตามมา

ในบางรายอาการของโรคต่อมลูกหมากโตอาจไม่ชัดเจน แต่ต่อมลูกหมากที่มีการเจริญผิดปกตินี้จะโน้มนำให้เกิดปัญหาของต่อมลูกหมากอื่นๆ ตามมาได้ เช่น ถุงน้ำในต่อมลูกหมาก (prostatic cyst) ฝีหนองในต่อมลูกหมาก (prostatic abscess) ซึ่งจะทำการรักษาได้ยากและใช้เวลานาน

"โรคต่อมลูกหมากในสุนัข" พบได้บ่อยในสุนัขเพศผู้!

วิธีการตรวจวินิจฉัย

สัตวแพทย์จะทำการซักประวัติ ประเมินจากอาการ อายุ และการล้วงตรวจผ่านทางทวารหนักเพื่อตรวจขนาดของต่อมลูกหมาก รวมถึงการใช้ภาพ x-ray และอัลตราซาวด์ ซึ่งนอกจากใช้วินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโตแล้ว ยังแยกแยะโรคนี้ออกจากความผิดปกติอื่นของต่อมลูกหมากออกได้ด้วย เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือ ฝีหนองในต่อมลูกหมาก เป็นต้น

วิธีการรักษา

การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดทำหมัน เนื่องจากมีผลดีทำให้ต่อมลูกหมากลดขนาดลงอย่างรวดเร็วและถาวร การทำหมัน (โดยการตัดอัณฑะออก) จะทำให้ฮอร์โมนเพศผู้ลดลง ขนาดต่อมลูกหมากจะเริ่มลดลงภายใน 7 วันหลังการผ่าตัดทำหมัน และลดขนาดลงถึงร้อยละ 50 ภายใน 3 สัปดาห์ ทั้งนี้จะลดลงถึงร้อยละ 70 ภายใน 9 สัปดาห์ตามลำดับ

แม้ว่าการผ่าตัดทำหมันจะให้ผลดีในการรักษาอย่างรวดเร็ว แต่อาจมีข้อจำกัดในบางกรณี เช่น สุนัขอาจมีปัญหาสุขภาพอื่นร่วมด้วยเนื่องจากโรคต่อมลูกหมากโตมักพบในสุนัขอายุมาก จึงสามารถพบควบคู่ไปกับโรคในสุนัขแก่หลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต หรือสัตว์อาจมีอาการอื่นร่วม เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึม เบื่ออาหาร ทำให้การวางยาสลบเพื่อผ่าตัดอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อีกทั้งการผ่าตัดทำหมันในสุนัขที่เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือข้อสะโพกเสื่อมนั้น อาจโน้มนำให้เกิดภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นและทำให้การควบคุมโรคเดิมยากขึ้นด้วย

"โรคต่อมลูกหมากในสุนัข" พบได้บ่อยในสุนัขเพศผู้!

ในบางกรณีเจ้าของไม่อยากผ่าตัดทำหมันสุนัขเพราะต้องการเก็บสุนัขไว้ใช้เป็นพ่อพันธุ์ต่อไป การรักษาทางยาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษา โดยสัตวแพทย์จะแนะนำให้กินยาเพื่อลดขนาดต่อมลูกหมากติดต่อกันทุกวัน

อย่างไรก็ตามการรักษาทางยาจะมีผลทำให้ต่อมลูกหมากลดขนาดลงชั่วคราว สัตว์จำเป็นที่จะต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม หากหยุดกินยา ต่อมลูกหมากจะกลับมาขยายขนาดใหญ่อีกได้