เปิดภาพ "มหาสดำ" พืชดึกดำบรรพ์แห่ง อช.เขาหลวง

22 มิถุนายน 2566

"มหาสดำ" เป็นเฟิร์นโบราณที่มีลำต้นสูงใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับเฟิร์นทุกชนิดในโลก มีลำต้นนั้นสูงได้ถึง 15-20 เมตร ทำให้มองดูคล้ายต้นไม้ยักษ์แห่งป่าดึกดำบรรพ์ และเป็นต้นไม้ยุคเดียวกับไดโนเสาร์

เฟิร์นมหาสดำ มีชื่อทั่วไป คือ เนระพูสี, เนระพูสีเทศ, กูดดำ, ดีงูหว้า ชื่อวิทยาศาสตร์ : 𝑪𝒚𝒂𝒕𝒉𝒆𝒂 𝒑𝒐𝒅𝒐𝒑𝒉𝒚𝒍𝒍𝒂 (Hook.) Copel. วงศ์ : POLYPODIACEAE มีลำต้นตั้งตรงไม่แตกกิ่งก้าน ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นที่ปลายยอดกลุ่มใบย่อยคู่ล่างลดขนาดลง กลุ่มใบย่อยถัดมารูปขอบขนาน ปลายเรียวแหลม ขอบใบหยักเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ ท้องใบมีเกล็ดแบนสีน้ำตาล แผ่นใบบาง หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีอ่อนกว่า กลุ่มอับสปอร์รูปเกือบกลมอยู่บนเส้นใบ 2 ข้าง มีเยื่อคลุมอับสปอร์เป็นเกล็ดเล็กก้านใบสีน้ำตาลอมเหลือง หรือสีน้ำตาลเข้ม มีหนามสั้นโคนก้านใบมีเกล็ดสีน้ำตาลเป็นมันด้านบนมีขน เรามักจะพบเฟิร์นมหาสดำมากในป่าบริเวณที่มีร่มเงา ใกล้ริมลำธารและป่าดิบชื้นตลอดปี

เปิดภาพ "มหาสดำ" พืชดึกดำบรรพ์แห่ง อช.เขาหลวง

โดยเฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยความที่เป็นพืชขึ้นในเขตร้อนชื้นแถบภาคใต้เป็นส่วนมาก “มหาสดำ”จึงเปรียบเป็นพืชที่เป็นหลังคาสีเขียวแห่งภาคใต้ และนับเป็นพืชมหัศจรรย์ที่มีอายุยืนยาว กาลเวลาของพืชชนิดนี้ยังทำให้เราได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ ตลอดจนหาแนวทางอนุรักษ์มาถึงปัจจุบัน

เปิดภาพ "มหาสดำ" พืชดึกดำบรรพ์แห่ง อช.เขาหลวง

นอกจากนี้จะมีพืชมหัศจรรย์แล้ว อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำตกที่มีถึง 6 แห่ง ได้แก่ น้ำตกพรหมโลก, น้ำตกกะโรม, น้ำตกอ้ายเขียว, น้ำตกกรุงชิง, น้ำตกท่าแพ และน้ำตกเหนือฟ้า อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ยังเป็นจุดปักหมุดสำคัญของนักเดินป่า ด้วยความเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในภาคใต้ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของตัวเมืองนครศรีธรรมราช นักนิยมไพรทั้งหลายจึงไม่ควรพลาดในการมาเยือน

เปิดภาพ "มหาสดำ" พืชดึกดำบรรพ์แห่ง อช.เขาหลวง

ชวนไปเยือนอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ชมพืชดึกดำบรรพ์ยุคไดโนเสาร์อย่าง “มหาสดำ”และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวง โทรฯ : 0 7530 0494, 0 7530 0495 อุทยานแห่งชาติเขาหลวง - Khao Luang National Park

เปิดภาพ "มหาสดำ" พืชดึกดำบรรพ์แห่ง อช.เขาหลวง

ที่มา : ส่วนอุทยานแห่งชาติ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช