หมอเล่าเรื่องราว 2 ผู้ป่วยระยะสุดท้าย และเป็นเรื่องให้เธอจำไปตลอดชีวิต

05 มิถุนายน 2564

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sarobon Chaudakshetrin ซึ่งเป็นคุณหมอด้านโรคติดเชื้อจากโรงพยาบาลรามคำแหง มีการโพสต์เล่าประสบการณ์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโควิด 19 โดยเธอตั้งใจเขียน เพื่อเก็บไว้อ่านในปีต่อๆไป..

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sarobon Chaudakshetrin ซึ่งเป็นคุณหมอด้านโรคติดเชื้อจากโรงพยาบาลรามคำแหง มีการโพสต์เล่าประสบการณ์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโควิด 19 

End-of-life stage when your loved one is dying
ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ยุ่งที่สุดของชีวิต ยิ่งกว่าตอนเรียน resident fellow ไม่มีเวลามานั่งเขียนอะไรยาวๆเท่าไหร่ แต่ตอนนี้แค่อยากเขียน เก็บไว้อ่านในปีต่อๆไป....
 

ปกติไม่ได้เคยชินกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย อย่างเช่น คนไข้มะเร็งมากนัก ที่ผ่านมามักจะเจอกลุ่มที่ติดเชื้อรุนแรงและจากไปทั้งในเวลาอันสั้น และยาวรวมถึงกรณีที่ญาติทำใจได้พอสมควร
การได้ดูแลคนไข้โควิดทุกวันในช่วงเวลาเกือบสองเดือน ทั้งอาการน้อย และหนักจนถึงเข้าICU อายุตั้งแต่ 10++จนถึง เกือบ 100 ทำให้ได้เห็นแง่มุมบางอย่างที่แตกต่างออกไปจากชีวิตหมอไอดีตลอดสิบกว่าปี ถึงแม้จะไม่ใช่ Intensivist ที่ต้องดูแลคนไข้ ICU ตลอดเวลา แต่ก็จะคุ้นชินกับการร่วมดูแลคนไข้หนักและต้องจากไปด้วยโรคติดเชื้อรุนแรง...แต่ครั้งนี้ มันแตกต่าง...ในแง่ของความรู้สึกมาก

เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ได้เจอคุณลุงที่น่ารัก วัย 79 ปี ของพวกเรา เป็นครั้งแรก ลุงบอกว่า ผมรีบมาหาหมอเลย ผมระวังมากๆแล้วเวลาขึ้นรถสาธารณะ ไปที่นั่นที่นี่ แต่ก้อยังติด ถามว่าผมจะหายใช่มั้ย 
คุณลุงเป็นคนไข้ที่มีวินัย ทำตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด กินยาตรงเวลา ไม่เคยงอแง อดทน พยายามฝึกการใช้ video call และเข้าใจกับวิธีการดูแลรักษาของพวกเราตลอดมา จนมาช่วงหนึ่งที่อาการเริ่มทรุด เมื่อเกือบสองสัปดาห์ก่อน จนใช้O2 เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนลุกไม่ค่อยไหว มีอยู่วันหนึ่งที่เดินเข้าไปราวน์ แล้วพบกระดาษที่เขียนด้วยลายมือตัวโตอ่านง่ายของแก นั่นคือร่างพินัยกรรม ที่ขึ้นต้นประโยคว่า ผม...เขียนในขณะที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ ในระหว่างการรักษาโควิดที่รพ. แค่เห็นก้อเหมือนมีก้อนจุกที่คอ ในขณะที่ใส่ชุด PPE และลุงบอกว่า ผมรู้สึกว่ามันเหนื่อยมาก จะไม่ไหว แต่ยังโชคดีกว่าคนที่คลองเตยเยอะ ที่มีเตียงรักษาในรพ ลุงเหนื่อยมากขึ้นเรื่อยๆจริงๆ จนถึงขั้นที่ควรจะใช้HFNC แต่แพทย์ ไม่สามารถหามาให้คุณลุงได้ในคืนนั้น Supervisor หามาแปดรพ ก้อไม่ได้เหลือแค่เครื่องเดียวที่ต้องเลือกให้คุณป้าอีกห้องที่ดูแย่กว่า ICU ก้อเต็ม (ในตอนนั้นก้อไม่เคยคิดว่า เราจะต้องเป็นผู้ที่เลือกหรือทำแบบที่หลายครั้งหลายประเทศทำกันในภาวะที่จำเป็น) แต่คุณลุงก้อยังผ่านมาได้เรื่อยๆ จนได้เครื่องHFNC และเข้า ICU ในที่สุด ลุงลาพยาบาลที่วอร์ดว่า ลุงไปก่อนนะคงไม่ได้กลับมาที่นี่อีก ดูเหมือนว่าจากคุณลุงนักสู้ ที่ดูเข้มแข็ง ยอมทำตามทีม อดทนยอมนอน Prone position ตามเวลา กินยาตลอด พอลงICU ก้อเริ่มดูท้อมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาการลุงหนักขึ้น IL6 ขึ้นเป็น1000++ จนต้องให้ Tocilizumab ในที่สุดด้วยความหวังว่าลุงจะสู้ไปกับพวกเราได้อยู่ แต่ในใจก้อคิดแล้วว่า ด้วยอายุ คือ high mortality มากๆ จนเช้าวันหนึ่งลุงโทรหาภรรยาตั้งแต่ตีสี บอกว่า...แกอยากพักแล้ว เหนื่อยมากไม่ไหวแล้ว จะบอกหมอทั้งสามคนว่าจะหยุดการรักษาทุกอย่าง พยายามกลั้นหายใจ เพราะคิดว่าจะไปแล้ว จากนั้นก็เริ่มแย่ลงจริงๆ จนSeptic shock ทุกคนพยายามจะสู้ ใส่ท่อช่วยหายใจ พี่เก้งแทง A-line C-line ให้ยาเต็มที่รวมทั้งล้างไต แต่สุดท้ายก็ไม่ไหว วันนั้นหมอทุกคนทยอยมาเยี่ยมที่ ICU จนกระทั่งตัวเองมาเป็นคนสุดท้ายตอนเที่ยงครึ่ง ABP drop ตลอด แต่ก็ยังอยากใส่ PPE เข้าไปเยี่ยมคุณลุงอยู่ดี รู้อยู่แล้วว่าคงทำอะไรไม่ได้มาก แต่พอเข้าไป ABP ขึ้นเป็น 110 ก็แอบหวังลึกๆว่าลุงอาจจะไหว พอเดินไปดูอีกห้องออกมาไม่เกิน 5 นาที น้องพยาบาลตะโกนกันใหญ่ว่า แกไปแล้ว asystole แล้วก้อหันมาบอกว่า แกรออาจารย์มาเยี่ยมคนสุดท้ายแน่ๆ ตอนนั้นรู้สึกหดหู่มากๆ รู้สึกว่าแกสู้มากๆ จนวาระสุดท้ายที่แกรู้ตัวว่าไม่ไหวและพยายามจะเลือกเองที่จะไป แต่พวกเราไม่ยอมปล่อยแกไป จนในที่สุดแกก็ได้ใช้พินัยกรรมที่แกได้เขียนเอาไว้จริงๆ

พอมาวันนี้คุณย่าอีกคน ที่อายุใกล้กัน ย่าเป็นคนเก่งน่ารักเข้มแข็งดูแลตัวเองได้ดีตั้งแต่วันแรกที่วอร์ด ไม่เคยทำให้จนท.ลำบากใจ หมอให้ทำอะไรย่าไม่เคยดื้อ หรืองอแงเลย เราสู้กันมาสองสัปดาห์ จนย่าอาการแย่ลงย้ายเข้า ICU ย่ากับลุงอยู่เตียงข้างกันมาก่อนใน ICU ย่าอาการดีขึ้นจนย้ายออกไปจาก​ICU ได้ แต่ต้องกลับมาอีกครั้งลงมาอยู่ห้องคุณลุงคนเดิมที่เพิ่งจากไปเมื่อวันก่อน เหมือนภาพเดิมวนกลับมาอีกครั้ง ย่าโทรหาลูก ตอนตีสีกว่า บอกว่าย่าไม่ไหว อยากพักแล้ว และสั่งเสีย ขอฝากบอกทุกคนให้อโหสิกรรมให้ย่า ลูกสาวยังคิดว่าแกซึมเศร้า ท้อแท้ไปเอง จนวันนี้แกทรุดลงอย่างรวดเร็ว IL-6 ขึ้นไป 10000++ แกโทรหาลูกสาวอีกครั้ง และตัดสินใจเองว่าไม่ขอให้ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือปั๊มหัวใจทั้งนั้น วันนี้ใส่ชุดเข้าไปหาย่า ย่ายังรู้ตัว บอกให้ย่าลืมตาแต่ย่าส่ายหน้า ย่าหายใจดูลำบากมากๆในท่า prone จนคิดว่าถ้าต้องใส่ท่อ ก็อยากจะเป็นคนใส่ให้ย่าเอง แต่ย่าส่ายหน้าอีก จนในที่สุดวันนี้ความดันก็ตกลงเรื่อยๆและคุณย่าก็จากไปอย่างสงบ

วาระสุดท้ายของคนไข้โควิด บางครั้งเราคาดการณ์ยากมากๆ บางครั้งโรคเหมือนจะดีขึ้น แต่สุดท้ายกลับแย่ลงอย่างรวดเร็วเพราะติดเชื้อแทรกซ้อน สิ่งที่มันต่างมากๆในแง่ของจิตใจ คือ คนไข้ไม่มีคนที่เค้ารักคอยอยู่ข้างๆได้เหมือนในภาวะปกติ อยู่อย่างโดดเดี่ยวและดูท้อแท้มากๆ ถึงแม้จะพยายามเข้มแข็งและต่อสู้กับมันมาเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ สุดท้ายแล้วคนไข้เองอาจจะรู้สึกเองว่าไม่ไหว เหนื่อยมากและไม่อยากทรมานอีกต่อไป หรือแม้แต่ญาติเองก็คงรู้สึกแย่ไม่แพ้กันที่ไม่สามารถมาดูแลคนที่เค้ารักในช่วงวาระสุดท้ายได้
ในฐานะที่เป็นทั้งเจ้าของไข้เองและเป็นหมอที่อยู่ในทีมดูแลคนไข้กลุ่มนี้ ก็รู้สึกหดหู่ เข้าใจดีว่าเรื่องpsychosupport นั้นสำคัญมากจริงๆ กับคนไข้โควิด ที่ต้องทนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมคนเดียว ไม่มีญาติมาเฝ้า เป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงพยายามจะเข้าไปราวน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะคนไข้ไม่ได้ต้องการแค่รับการรักษาจากเรา แต่...ต้องการใครสักคนที่คอยให้กำลังใจ ให้เค้าไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ให้เค้าผ่านพ้นช่วงเวลาเจ็บป่วยนี้ไปได้ บางครั้งก็พยายามกลับมาทบทวน ว่าตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราทำอะไรพลาดไปบ้างและมีอะไรที่ควรจะต้องปรับปรุง เพื่อคนไข้ที่อยู่ในมือขณะนี้ และที่จะมีอีกเรื่อยๆในอนาคต ได้หายดีกลับบ้านไปเจอคนที่เค้ารัก

 

คิดถึงคุณลุง คุณย่าคนดี...ป่านนี้คงอยู่บนสวรรค์กันหมดแล้ว
ขอบคุณทีมพี่ๆน้องๆทุกคนทั้งแพทย์ พยาบาลและผู้ช่วย ที่ช่วยกันดูแลคนไข้อย่างเต็มที่จนวาระสุดท้ายจริงๆค่ะ ขอบคุณคุณพ่อ Kunchit Piyavechviratana ที่คอยชี้แนะให้คำปรึกษาตลอด
ปล. ไปฉีดวัคซีนกันเถอะนะ โควิดมันน่ากลัวกว่าที่คิดไว้มากจริงๆ เกิดมาไม่เคยเจอไวรัสอะไรแบบนี้มาก่อน คุณครู Tor Phiboonbanakit ไม่ได้บอกไว้ตอนเรียน555