โดย"หมอธีระ"ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุเนื้อหาดังนี้
สถานการณ์โควิด-19ทั่วโลก 16 กรกฎาคม 2564...
อินโดนีเซียมีจำนวนติดเพิ่มรายวันสูงที่สุดในโลกแล้ว เมื่อวาน 56,757 คน เสียชีวิตเพิ่มเฉียดพันคน ในขณะที่สหราชอาณาจักร ระลอกสี่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ติดเพิ่มกว่า 48,000 คน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 543,638 คน รวมแล้วตอนนี้ 189,685,582 คน ตายเพิ่มอีก 8,178 คน ยอดตายรวม 4,082,297 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อินโดนีเซีย บราซิล สหราชอาณาจักร อินเดีย และสหรัฐอเมริกา
อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 32,383 คน รวม 34,882,209 คน ตายเพิ่ม 318 คน ยอดเสียชีวิตรวม 624,172 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่ม 39,072 คน รวม 31,025,875 คน ตายเพิ่ม 1,444 คน ยอดเสียชีวิตรวม 412,563 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 52,789 คน รวม 19,262,518 คน ตายเพิ่มถึง 1,470 คน ยอดเสียชีวิตรวม 538,942 คน อัตราตาย 2.8%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 25,293 คน รวม 5,882,295 คน ตายเพิ่ม 791 คน ยอดเสียชีวิตรวม 146,069 คน อัตราตาย 2.5%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 3,617 คน ยอดรวม 5,833,341 คน ตายเพิ่ม 16 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,429 คน อัตราตาย 1.9%
อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
ระลอกสี่ของสหราชอาณาจักรเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เราทราบว่า การกดระลอกสามในช่วงปลายปีก่อนและต้นปีที่ผ่านมาได้นั้น มาจาก"มาตรการล็อคดาวน์" มิใช่เป็นผลหลักโดยตรงจากวัคซีน แม้ปัจจุบันประชากรอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปของสหราชอาณาจักรได้ฉีดไปครบ 2 โดสแล้ว 67.1% และฉีดเข็มแรกไป 87.5% ก็ตาม ดังนั้นจึงควรเข้าใจหลักการและความรู้ด้านสาธารณสุขอย่างถูกต้อง การจำกัดการเคลื่อนที่ยังจำเป็นอย่างยิ่งยามที่ระบาดหนัก เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น เมียนมาร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
เกาหลีใต้เกินพันมาติดกันเป็นวันที่ 9 ล่าสุด 1,600 คน ส่วนมาเลเซีย หยุดไม่อยู่ จำนวนติดเชื้อสูงมากถึง 13,215 คน ตายเพิ่มกว่าร้อยคน ในขณะที่เวียดนามทำลายสถิติเดิมอย่างต่อเนื่อง ติดเชื้อสูงถึง 3,416 คน คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 15 ของโลก
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ในขณะที่อิหร่านติดเพิ่มเกินสองหมื่นอย่างต่อเนื่อง
กัมพูชา และลาว ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่นิวซีแลนด์ติดเพื่มต่ำกว่าสิบ
ลาวนั้นติดเพิ่ม 116 คน สูงสุดเท่าที่เคยระบาดมา
...สถานการณ์การระบาดทั่วโลกมีจำนวนการติดเชื้อสูงขึ้นชัดเจน เป็นการระบาดระลอกใหม่ที่กำลังไต่ระดับความรุนแรงขึ้นจากสายพันธุ์เดลต้า
สำหรับสถานการณ์ระบาดของไทยเรา ล่าสุดมีจำนวนติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับ 59 ของโลก หากรวมยอดวันนี้จะแซงอุรุกวัยขึ้นเป็นอันดับ 58 ได้และจะแซงอีก 3 ประเทศคือ คอสตาริกา จอร์เจีย และคูเวตในวันถัดไป
วิเคราะห์สภาพแวดล้อม และระบบพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในการต่อสู้กับโรคระบาดในขณะนี้ จะพบว่าไทยเราน่าเป็นห่วง
หนึ่ง นโยบายเปิดเกาะ เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะมีความเสี่ยงในการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ กิจกรรมกิจการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ จะมีโอกาสสูงที่จะทำให้การระบาดในชุมชนที่มีแฝงอยู่แต่เดิมทวีความรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นคนในพื้นที่จึงต้องต้องการ์ดให้เข้มแข็ง
สอง ระบบการตรวจคัดกรองโรคแบบมาตรฐานยังไม่ทั่วถึงและไม่มากพอ ในขณะที่การใช้ rapid antigen test มีทั้งข้อดีข้อเสีย แม้จะทำให้ตรวจได้มากขึ้นและทำเองได้ แต่ผลกระทบเรื่องผลลบปลอมและราคาค่างวดที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยอาจไม่สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน ดังนั้นโจทย์หลักยังคงเป็นเรื่องการทำอย่างไรให้คนไทยและต่างชาติทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงบริการตรวจได้สะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีจุดบริการมากเพียงพอและครอบคลุมทุกพื้นที่ และไม่ติดกฎเกณฑ์ใดๆ
สาม ระบบการดูแลรักษา ภาวะวิกฤติเตียงล้นแม้จะใช้นโยบายกักตัวที่บ้านหรือกักตัวในชุมชนไป แต่คาดว่าจะชะลอหรือบรรเทาปัญหาไปได้ระยะหนึ่ง ทั้งนี้ด้วยจำนวนการติดเชื้อใหม่แต่ละวันสูงมาก ภาวะล้นในทุกที่ รอเตียง เสียชีวิตทั้งที่บ้าน ที่ชุมชน และที่สถานพยาบาล ก็จะยังคงอยู่หรือกลับเพิ่มขึ้นในอีกราว 3-6 สัปดาห์หากไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ดังนั้นการพิจารณา Full national lockdown อย่างน้อย 4 สัปดาห์จึงยังมีความสำคัญมากและแข่งกับเวลา
สี่ "วัคซีน" ทั้งเรื่องแผน การดำเนินงาน ชนิด ปริมาณ และประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงข้อกังขาเรื่องเหตุผลวิชาการและทัศนคติในการผลักดันนโยบายนั้นมีปัญหาอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลให้ทุกภาคส่วนเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย และกลไกการบริหารนโยบายและกลไกวิชาการที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นรัฐ/ศบค.จึงควรตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะจัดการแก้ไขและปรับเปลี่ยน รวมถึงจัดตั้งกลไกการตรวจสอบการดำเนินงานตลอดช่วงที่ผ่านมา เพื่อสำแดงให้สาธารณะได้กระจ่างถึงรายละเอียด ความเป็นมา และแนวทางแก้ไขปัญหา
วัคซีนนั้นสำคัญมาก เพราะสถานะปัจจุบันน่าวิตก และจะส่งผลกระทบต่อการควบคุมป้องกันโรค การติดเชื้อ การเสียชีวิต และโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ศบค.ควรประกาศเปลี่ยนนโยบายวัคซีน โดยมีแนวทางดังนี้
1. ทำทุกหนทางเพื่อมุ่งจัดหาวัคซีน mRNA มาใช้เป็นวัคซีนหลักของประเทศ โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการเองผ่านกลไกศบค.ที่มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่ผ่านกลไกกระทรวง
2. เร่งจัดหาวัคซีนอื่นที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ Johnson&Johnson (Ad26 vector vaccine) ซึ่งมีข้อดีคือการฉีดเข็มเดียว และ Novavax (protein subunit vaccine) เข้ามาใช้ในประเทศโดยเร็ว
3. ในช่วงเวลารอวัคซีน mRNA จะใช้วัคซีนที่มีอยู่ โดยปรับมาใช้ Sinopharm เป็นวัคซีนหลักสำหรับประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ส่วน Astrazeneca นั้นจะใช้สำหรับประชาชนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
4. ยุติแนวคิดการฉีดวัคซีนไขว้ เพราะยังมีข้อถกเถียงเชิงวิชาการอย่างมากในเรื่องชนิดวัคซีนที่ใช้ ปฏิกิริยาและผลไม่พึงประสงค์ รวมถึงเรื่องการยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลจริงในการป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันการป่วยหรือการเสียชีวิต ดังนั้นจึงไม่สมควรนำมาใช้เป็นนโยบายสาธารณะที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อประชาชนในสังคม ที่ควรทำคือการนำวัคซีนที่เป็นที่ยอมรับระดับสากลมาใช้โดยวิธีมาตรฐานเพื่อจัดการภาวะวิกฤตินี้
5. ปรับเปลี่ยนกลไกนโยบายและวิชาการ และประกาศให้ทราบว่า นโยบายและมาตรการทุกอย่างถัดจากวันนี้ไป จะใช้ความรู้ที่พิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ เป็นหลักในการตัดสินใจเสมอ พร้อมเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และแสดงออกซึ่งความพร้อมที่จะรับผิดชอบ
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า
เป็นกำลังใจให้ทุกคน
ด้วยรักและห่วงใย