จากที่ก่อนหน้านี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เปิดเผยถึงกรณีเงินเยียวยานักเรียน คนละ 2,000 บาทว่า ครม.ได้มีมติเห็นชอบโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใน 3 มาตรการ วงเงิน 22,000 ล้านบาท
ล่าสุดมีการอัพเดทว่า เงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท ช่องทางการตรวจสอบสิทธิ์ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจ่ายได้ช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 โดยสำหรับนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. สามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้ที่เว็บไซต์ (คลิกที่นี่)โดยจะต้องกรอกเลขประจำตัวประชาชน และเลขประจำตัวนักเรียน
ขณะเดียวกัน สำหรับนักเรียน โรงเรียนเอกชน ตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์เช่นเดียวกัน (คลิกที่นี่) หรือแอปพลิเคชัน สช. On mobile โดยนักเรียนไทยให้กรอกเลขประจำตัวประชาชน และนักเรียนต่างชาติหรือนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียน ให้ใช้รหัส G-Code จาก รร. ที่ศึกษาอยู่
ตามรายละเอียดในการช่วยเหลือนักเรียนด้วยการแจกเงินเยียวยาคนละ 2,000 บาทนั้น ทาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดเผยว่าจะแบ่งออกเป็น 3 มาตรการคือ
1. ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ โดยให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐและเอกชน และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ.ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชั้นอนุบาล - ม.6 และระดับอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งจะจ่ายผ่านสถานศึกษา และให้สถานศึกษาจ่ายตรงให้แก่นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณี ในรูปแบบของเงินสด หรือนำเข้าบัญชีธนาคาร จำนวนประมาณ 11 ล้านคน วงเงินรวมประมาณ 21,600 ล้านบาท
2. การขอความร่วมมือให้กลุ่มโรงเรียนเอกชน ที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ และกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครอง ให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนเกินสมควร และจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชนกลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐและกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ เพื่อใช้มาตรการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 และ 34 ของพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 เป็นรายกรณี
3. เป็นการลดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gaps) และลดผลกระทบด้านความรู้ที่ขาดหายไป (Learning Loss) โดยให้สถานศึกษาสามารถถัวจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการ ได้แก่ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปีการศึกษา 2564 ได้