นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะ ลงพื้นที่ไปติดตามการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำท่าจีน ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้ำมาก บรรเทาความเดือดร้อนพื้นที่ตอนล่าง
อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เพื่อลดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน และบริหารจัดการน้ำแม่น้ำท่าจีนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยการใช้คลองที่มีในพื้นที่เป็นคลองรับน้ำเพื่อการระบายน้ำ เร่งระบายน้ำในพื้นที่ผ่านประตูระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำถาวรบริเวณริมแม่น้ำท่าจีน นอกจากนี้ ยังได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่แก้มลิงผ่านประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัยลงสู่ทะเล เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ จะทำการพร่องน้ำในคลองมหาชัยให้ต่ำกว่าตลิ่ง 0.3-0.5 เมตร และเดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำคลองมหาชัยและปตร.คลองหวายลิงใหญ่ เสริมในช่วงน้ำทะเลหนุน พร้อมกับเร่งระบายน้ำในคลองสายหลัก เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากพื้นชุมชนด้วย
ในการนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่บริหารจัดการน้ำร่วมกันอย่างเป็นระบบเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งหมั่นตรวจสอบความมั่นคงของอาคารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง รวมถึงเร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณประตูระบายน้ำต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ไหลสะดวกมากยิ่งขึ้น
สำหรับการระบายน้ำในวันที่ 3ต.ค. กรมชลประทาน ได้มีการระบายน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น จากเมื่อวานอยู่ที่ 2,762 แต่เช้านี้ 3ต.ค. ระบายน้ำอยู่ที่ 2,784 ลบ.ม./วินาที หน้าเขื่อนระดับน้ำอยู่ที่ 17.11เมตร ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 16.21 เมตร และน้ำเหนือจะไปรวมกับเเม่ป่าสัก น้ำจากเขื่อนป่าสัก ก็จะไหลไปสมทบที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจาก ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี ระดับน้ำจะสูงขึ้นเเล้ว ทางจังหวัดอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ก็จะมีระดับน้ำสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะขณะนี้ยังมีการเร่งระบายน้ำอยู่ เนื่องจากเกรงว่าอาจจะมีพายุพัดผ่านเข้าในประเทศไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews