6 ต.ค.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น สาเหตุมาจากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังจากทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่มีการปรับขึ้น
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยในเรื่องนี้ จึงสั่งการให้ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน มีมาตรการบรรเทาผลกระทบของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้น ดังนี้
1. ลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของ B7 จาก 1 บาท เหลือเพียง 1 สตางค์ ส่งผลให้ B7 มีราคาอยู่ที่ 30.29 บาท/ลิตร ซึ่งมาตรการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 5 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป
2. ปรับลดสัดส่วนไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว จากเดิมมีการผสมอยู่ 3 สัดส่วน คือ ร้อยละ 7 (บี7) ร้อยละ 10 (บี10) และร้อยละ 20 (บี20) ให้เหลือ 2 สัดส่วน คือ สัดส่วนร้อยละ 6 (บี6) และร้อยละ 20 พร้อมทั้งเห็นชอบค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา บี6 เท่ากับ 1.40 บาทต่อลิตร เพื่อใช้อ้างอิงในการกำกับดูแลความเหมาะสมของราคาขายปลีก
ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซล B6 จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 28.29 บาท/ลิตร ในช่วงระหว่างวันที่ 11-31 ต.ค. 2564 และในระหว่างนี้จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและกำหนดมาตรการในระยะต่อไป ทั้งหมดนี้ คิดเป็นมูลค่าการชดเชยตามมาตรการดังกล่าวนี้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสถานะเงินกองทุนฯ อยู่ที่ 11,000 ล้านบาท ยังคงเพียงพอที่จะนำมาช่วยเหลือ นอกจากนี้ที่ผ่านมาได้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ เพื่อชดเชยราคาขายปลีก LPG สำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ต่อเนื่องจนวันที่ 31 ธันวาคม 2564
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ราคาขายน้ำมันแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศนั้น ๆ แต่ละประเทศมีมาตรการภาษี ระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน ราคาหน้าโรงกลั่น ค่าเงินบาท ซึ่งความจริงแล้วราคาน้ำมันในปัจจุบันไม่ได้สูงไปกว่ารัฐบาลก่อนตามที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาแสดงความเห็นเรื่องภาษีน้ำมันสรรพสามิตในรัฐบาลก่อน
แต่บริบทที่เปลี่ยนไปมีความแตกต่างต่อการบริหารประเทศอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือในหลายแนวทาง และต้องมีการบริหารการเงินการคลังให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ พบว่า ประเทศไทยไม่ได้ขายน้ำมันแพงที่สุดในโลก ราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิง ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ประเทศไทยขายอยู่ที่ 31.15 บาท/ลิตร กัมพูชา 37.22 บาท/ลิตร และสิงคโปร์ 63.79 บาท/ลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซลอ้างอิง ณ วันที่ 4 ตุลาคม เช่นกัน ประเทศไทยขายอยู่ที่ 28.29 บาท/ลิตร กัมพูชา 30.19 บาท/ลิตร และสิงคโปร์ 51.87 บาท/ลิตร
นายธนกร กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่นายพิชัยระบุว่า รัฐบาลควรลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 5 บาท/ลิตร โดยเปรียบเทียบกับสมัยรัฐบาลยิ่งสักษณ์ที่จัดเก็บอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเพียงลิตรละ 0.005 บาท/ลิตรนั้น เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันดิบโลกอยู่ที่ 77.30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564) ต่างจากสมัย
รัฐบาลนางสาวยิ่งสักษณ์ ชินวัตร ที่เคยสูงประมาณ 106.86 เหรียญหรัฐ/บาร์เรล (เดือนสิงหาคม 2554)
ในขณะนั้นจึงต้องมีการลดอัตราภาษีน้ำมันและเงินนำส่งเข้ากองทุนลดลง ดังนั้น ขณะนี้จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องลดอัตราภาษีลง แต่รัฐบาลจะติดตามสถานการณ์น้ำมันอย่างใกล้ชิด ส่วนกรณีที่นายพิชัยระบุว่า รัฐบาลเอาคนที่ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจมาบริหารเศรษฐกิจถึงได้ล้มเหลวนั้น ต้องชี้แจงให้เข้าใจว่า เพราะท่านนายกฯ ทราบดี จึงต้องการให้คนที่เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจดีมาช่วยบริหารประเทศ ทำให้ไม่มีชื่อของนายพิชัยอยู่ในลิสต์ด้วย
ท่านนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย จึงเร่งรัดทุกฝ่ายติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้กระทรวงพลังงานเตรียมมาตรการรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนอยู่เสมอ ทั้งเรื่องราคา LPG การรักษาค่า FT ในส่วนของค่าไฟฟ้า และดูแลเกษตรกรให้ยังได้รับผลประโยชน์จากการผลิตปาล์มน้ำมัน รวมทั้งผู้ผลิตยังสามารถส่งออกน้ำมันปาล์มได้อย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลมีเจตนารมณ์สำคัญที่จะบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ให้คนไทยในฐานะผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews