"หมอธีระ"เผย เพศที่มีโอกาสเกิดภาวะ Long COVID ได้สูงสุด

17 พฤศจิกายน 2564

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

"หมอธีระ" ระบุว่า 

17 พฤศจิกายน 2564

ทะลุ 255 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 474,361 คน ตายเพิ่ม 6,982 คน รวมแล้วติดไปรวม 255,045,169 คน เสียชีวิตรวม 5,129,095 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา เยอรมัน สหราชอาณาจักร รัสเซีย และตุรกี

หมอธีระ

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.66 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.21

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึง 62.49% ของทั้งโลก พอๆ กับจำนวนเสียชีวิตเพิ่มที่คิดเป็น 61.08%

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...สำหรับสถานการณ์ไทยเรา

เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 5,947 คน สูงเป็นอันดับ 18 ของโลก

หากรวม ATK อีก 2,073 คน จะขยับเป็นอันดับ 15 ของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ที่รวม ATK ไทยจะเป็นอันดับ 3 ของเอเชียรองจากตุรกีและเวียดนาม

...อัพเดตเรื่องภาวะอาการคงค้างหลังจากเป็นโรคโควิด หรือ Long COVID

Chen C และคณะ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกาได้ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบ เพื่อดูว่าจากรายงานวิจัยของทั่วโลกเกี่ยวกับ Long COVID นั้น จริงๆ แล้วมีอัตราความชุกของภาวะดังกล่าวมากน้อยเพียงใด

มีงานวิจัย 40 ชิ้น มาจากอเมริกาเหนือ 9 ชิ้น อเมริกาใต้ 1 ชิ้น ยุโรป 17 ชิ้น เอเชีย 11 ชิ้น และจากที่อื่นๆ 2 ชิ้น

พบว่าอัตราความชุกโดยเฉลี่ยที่พบภาวะอาการคงค้างของผู้ป่วยโควิดนั้นสูงถึง 43% (ช่วงความเชื่อมั่น 35%-63%)

เพศหญิงมีภาวะดังกล่าวมากกว่าเพศชาย (49% vs 37%)

คนที่ติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลจะพบภาวะ Long COVID มากกว่าอัตราเฉลี่ยของทั้งหมด (57%)

ด้วยข้อมูลข้างต้น พอจะทำให้เราทราบได้ว่า ภาวะอาการคงค้างหลังจากป่วยเป็นโรคโควิดนั้นพบบ่อย และจะทำให้เกิดผลกระทบทั้งต่อตัวบุคคลที่ติดเชื้อในแง่สุขภาพกายและใจแล้ว ก็ย่อมส่งผลกระทบให้เกิดความกังวลใจของครอบครัว และอาจส่งผลต่อสมรรถนะในการทำงานหาเลี้ยงชีพและการดำรงชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ภาระโรคต่อระบบสุขภาพย่อมมีมาก ยิ่งหากประเทศใดมียอดติดเชื้อมาก โอกาสที่ต้องเจอปัญหา Long COVID ยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

"ใส่หน้ากาก"นะครับ สำคัญมาก

"อยู่ห่างคนอื่นเกินหนึ่งเมตร" ลดอัตราติดเชื้อลงได้ 5 เท่า

สองเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยรักและห่วงใย

อ้างอิง

Chen C. Global Prevalence of Post-Acute Sequelae of COVID-19 (PASC) or Long COVID: A Meta-Analysis and Systematic Review. medRxiv. 16 November 2021.

2525

หมอธีระ