"หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาพูดถึง สถานการณ์โควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า การดำเนินนโยบายตามคำแนะนำที่ไม่ถูกต้องจะนำไปสู่หายนะ
โดยเผยว่า โควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่
28,379
ATK 22,331
รวม 50,710
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1619 คน เป็น 1,828 คน เพิ่มขึ้น 12.9%
ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 630 คน เป็น 712 คน เพิ่มขึ้น 13.01%
จำนวนติดเชื้อรวม ATK ของวันนี้ ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน 3.78% แต่มากกว่าสองสัปดาห์ก่อน 9.59%
สถานะปัจจุบันเกี่ยวกับโรคโควิด-19 วัคซีนที่มีนั้นลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้จำกัด แม้จะป้องกันป่วยรุนแรง ป้องกันการเสียชีวิตได้ แต่ประสิทธิภาพก็ลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา ยาที่ใช้กันในประเทศไทยนั้นมีจำกัด และชนิดของยาที่ใช้เป็นหลักนั้นก็มีความแตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว แม้จะมีความพยายามนำยาใหม่เข้ามา แต่ก็ค่อนข้างช้ากว่าสถานการณ์ และปริมาณจำกัด เนื่องจากราคาแพง
คำกล่าวอ้างว่า เศรษฐกิจยอบแยบ ต้องเปิดให้เดินหน้า ณ จุดนี้คงไม่มีใครขวาง เพราะที่ผ่านมาระลอกสอง สาม และสี่ในปัจจุบัน ควบคุมป้องกันโรคได้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจนการระบาดกระจายไปทั่ว เกินกว่ามาตรการเดิมแบบระลอกแรกจะได้ผล
แต่คำกล่าวอ้างว่า คนเดินทางจากต่างประเทศตรวจพบติดเชื้อหลักสิบ เมื่อเทียบกับการติดเชื้อในประเทศหลายหมื่นต่อวัน ดังนั้นการเปิดประเทศให้เศรษฐกิจเดินหน้านั้นจึงต้องทำและดำเนินต่อไปนั้นยังไม่ใช่ตรรกะที่ถูกต้อง แต่ปรากฏการณ์ข้างต้น โดยแท้จริงแล้วกลับสะท้อนว่า สถานการณ์ระบาดในประเทศรุนแรง สิ่งที่ควรทำคือการสร้างนโยบายและมาตรการที่ควบคุมป้องกันโรคในประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ใช่ปล่อยไปตามเดิม โดยเศรษฐกิจเดินได้ แต่สุขภาพคนในประเทศเละเทะ
เศรษฐกิจเดินได้ แต่ต้องปรับรูปแบบการทำงาน การดำเนินชีวิตในประเทศให้มีความระแวดระวังมากขึ้น ป้องกันตัวมากขึ้น ไม่ใช่สร้างคำคมคารมให้ประชาชนต้องก้มหน้าทนอยู่ในสภาพสังคมที่เสี่ยงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต
เหนืออื่นใด ภาวะ Long COVID คือหลุมดำ ที่ทั่วโลกมีความรู้ทางการแพทย์ชี้ชัดแล้วว่าเกิดขึ้นได้หลังการติดเชื้อ และมีโอกาสเป็นปัญหาหนักส่งผลกระทบระยะยาวในอนาคตทั้งต่อคนที่เป็น ครอบครัว และประเทศ โดยที่ยังไม่มีวิธีป้องกันหรือรักษาที่ชัดเจน นอกจากการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ แม้บางวิจัยจะพบว่าการฉีดวัคซีนอาจป้องกันได้บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก และประสิทธิภาพก็แตกต่างกันในแต่ละชนิดของวัคซีนที่ใช้ โดย mRNA vaccines มีประสิทธิภาพสูงกว่า viral vector vaccine การอยู่ร่วมกับโควิดนั้น เป็นสัจธรรมแต่มิใช่ให้ทำใจรับกับความยับเยินไปเรื่อยๆ
สิ่งที่ต้องทำคือ
1. นำเสนอสถานการณ์จริงให้คนในสังคมได้รับทราบว่าระบาดรุนแรง ตอนนี้เอาไม่อยู่ แต่สามารถช่วยกันได้ด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ลืมเรื่องชีวิตเดิมในอดีต การถอดหน้ากากไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ในเวลาอันสั้นนับจากนี้
2. Long COVID is real and that's why we should be cautious and protect ourselves โดยรัฐจำเป็นต้องเตรียมระบบบริการเพื่อตรวจ ดูแลรักษา และฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
3. สร้างนโยบายและมาตรการที่เป็น real evidence-based ไม่ใช้ความเชื่อส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ตีขลุมจะผลักให้ยอมรับเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ทั้งๆ ที่ความรู้ ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถฟันธงให้เป็นเช่นนั้นได้
4. ยกเลิกความคิดเดิมที่จะประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในเวลาอันสั้น
5. จัดระบบบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยคนไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย เน้นการดูแลแบบทางไกล ไม่ใช่ให้ไปรพ.แบบเจอแจกจบ
6. ยารักษาโควิด-19 ควรใช้ตามแนวทางปฏิบัติของประเทศพัฒนาแล้ว ใช้ยาที่ผ่านการพิสูจน์ชัดเจนตามขั้นตอนมาตรฐานทางการแพทย์สากล
ทางเดินถัดจากนี้ ความปกติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริงนั้นยากมากที่จะเป็นแบบอดีต แต่มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นไปในแบบการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องระมัดระวังตัว ทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ซึ่งเป็นไปได้ยากสำหรับทุกคน ดังนั้นจึงจะมีโอกาสติดเชื้อในกลุ่มที่หลุด หรือกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถานที่ที่เกิดระบาด ก็ยังเป็นลักษณะเดิมคือ หากคนเยอะ แออัด ระบายอากาศไม่ดี หละหลวมไม่ป้องกัน ก็จะเกิดปัญหาไปซ้ำซาก
จุดอ่อนของระบบบริการดูแลรักษา ทั้งช่องทางเข้าถึง กระบวนการ รวมถึงหยูกยาที่มีนั้น จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเตรียมพร้อมรับมือไประยะยาว เพื่อลดความสูญเสียจากการติดเชื้อหรือเจ็บป่วย
เหนืออื่นใด สังคมควรมีความรู้เท่าทันสถานการณ์ เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ รักในชีวิตของตนเอง ทำมาหากินได้แต่ต้องทำด้วยความปลอดภัย ใช้ชีวิตได้เรียนได้อย่างปลอดภัยและระมัดระวัง ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ และรับผิดชอบต่อสังคม เช่นนี้จึงจะประคับประคองกันและกันไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
63 จังหวัดมีจำนวนติดเชื้อตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป คิดเป็น 81.81% ของจังหวัดทั้งหมดของประเทศไทย และในจำนวนนี้มีถึง 17 จังหวัด ที่ติดเชื้อใหม่เกิน 500 คน คิดเป็น 22% ของจังหวัดทั้งหมดของประเทศไทย