ภารกิจสุดอันตรายช่วยลูกช้างติดบ่วง ฝูงช้าง 60 ตัว ยืนเฝ้าไม่ห่าง สำเร็จแล้ว

04 ธันวาคม 2567

สำเร็จแล้ว ภารกิจสุดอันตรายระดมช่วยลูกช้างงวงติดบ่วง อุปสรรคใหญ่คือฝูงช้างกว่า 60 ตัว ยืนล้อมเฝ้าไม่ยอมห่าง

วันที่ 4 ธันวาคม 2567 อัปเดตล่าสุดภารกิจช่วยลูกช้างป่าถูกบ่วงรัดงวง 2 ตัว และมีฝูงช้างป่ากว่า 40-60 ตัวยืนล้อมเฝ้าเอาไว้ไม่ยอมห่างทำให้ภารกิจช่วยเหลือกลายเป็น "งานช้าง" เจ้าหน้าที่ต้องวางแผนกันอย่างดีเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับตัวเจ้าหน้าที่และตัวช้างป่า  ล่าสุดมีข่าวดีเจ้าหน้าที่ช่วยลูกช้างป่าทั้ง 2 ตัวได้สำเร็จแล้ว โดยเพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ภาพและรายงานความคืบหน้าภารกิจ "ปฏิบัติการกู้ชีวิต! ทีมสัตวแพทย์-เจ้าหน้าที่กว่า 100 นาย ระดมช่วยลูกช้างป่าถูกบ่วงรัดงวง 2 ตัว ที่แก่งหางแมว สอดรับนโยบายกระทรวงฯ ดูแลช้างป่าคืนสู่ธรรมชาติ"

สำเร็จแล้ว ภารกิจสุดอันตรายช่วยลูกช้างติดบ่วง ฝูงช้าง 60 ตัว ยืนเฝ้าไม่ห่าง


 

 

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ได้เดินทางตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กว่า 100 นาย ที่ร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือลูกช้างป่า 2 ตัว ที่ถูกบ่วงรัดบริเวณงวง ณ หน่วยพิทักษ์อุทยานแก่งหางแมว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรช้างป่า การดูแลช้างป่าที่บาดเจ็บ เพื่อให้กลับคืนสู่ป่าธรรมชาติในสภาวะปกติ ไม่สร้างความเดือดร้อนและรบกวนประชาชน

สำเร็จแล้ว ภารกิจสุดอันตรายช่วยลูกช้างติดบ่วง ฝูงช้าง 60 ตัว ยืนเฝ้าไม่ห่าง

ปฏิบัติการครั้งนี้นำทีมโดยนายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.2 (ศรีราชา) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาสอยดาว อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น หน่วยพิทักษ์ป่าแก่งหางแมว ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่)  สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่องค์การปกครองท้องถิ่น และจิตอาสาในพื้นที่

สำเร็จแล้ว ภารกิจสุดอันตรายช่วยลูกช้างติดบ่วง ฝูงช้าง 60 ตัว ยืนเฝ้าไม่ห่าง

นายสิรวิชน์ ทรัพย์เอนก นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ และคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายแก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ. 2 (ศรีราชา) รายงานผลการปฏิบัติงานว่า ได้ช่วยเหลือลูกช้างทั้งสองตัวสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2567

สำหรับลูกช้างตัวแรกที่ถูกเชือกรัดบริเวณปลายงวง ทีมได้ยิงยาซึมจำนวน 1 เข็ม หลังจาก 15 นาทีลูกช้างแสดงอาการซึม และเมื่อผ่านไป 30 นาที ทีมเฝ้าระวังจึงผลักดันฝูงช้างป่าให้หลบเข้าป่า ทีมสัตวแพทย์เข้าตัดเชือกที่รัดปลายงวง พร้อมฉีดยาปฏิชีวนะและยาแก้ฤทธิ์ยาซึม อย่างละ 1 เข็ม หลังจากนั้น 10 นาที ลูกช้างเริ่มรู้สึกตัว เดินได้ โบกหู และฝูงช้างได้พาลูกช้างหลบเข้าป่าอย่างปลอดภัย

สำเร็จแล้ว ภารกิจสุดอันตรายช่วยลูกช้างติดบ่วง ฝูงช้าง 60 ตัว ยืนเฝ้าไม่ห่าง

ส่วนลูกช้างตัวที่สองที่ถูกบ่วงรัดกลางลำงวง เจ้าหน้าที่ได้นำผลไม้ไปวางที่ลานดินเพื่อล่อให้ฝูงช้างออกมา เมื่อพบลูกช้างเป้าหมายกับแม่ช้าง จึงยิงยาซึม 1 เข็ม แต่ไม่สามารถยิงยาซึมแม่ช้างได้ ลูกช้างวิ่งเข้าป่าพร้อมแม่ช้าง หลังรอ 30 นาทีให้ยาออกฤทธิ์ ทีมเฝ้าระวังจึงเข้าผลักดันฝูงช้างและแม่ช้างออกจากลูกช้าง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่อันตรายมาก

ทีมสัตวแพทย์เร่งเข้าตัดเชือกที่รัดกลางลำงวง พบว่าเชือกทำให้รูงวงด้านขวาขาด แต่บาดแผลไม่ติดเชื้อและเริ่มตกสะเก็ด มีเนื้อเยื่อใหม่ปกคลุม ส่วนรูงวงด้านซ้ายยังปกติ จึงล้างแผลและให้ยาปฏิชีวนะพร้อมยาแก้ฤทธิ์ยาซึม ปฏิบัติการเสร็จสิ้นเวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่รีบถอนกำลังกลับหน่วยพิทักษ์ป่าแก่งหางแมวเพื่อความปลอดภัย

สำเร็จแล้ว ภารกิจสุดอันตรายช่วยลูกช้างติดบ่วง ฝูงช้าง 60 ตัว ยืนเฝ้าไม่ห่าง

นายสัตวแพทย์สิรวิชย์ฯ คาดการณ์ว่า ลูกช้างตัวที่สองจะสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ แม้อาจไม่สามารถใช้งวงหยิบจับได้เช่นเดิม ด้านนายก้องเกียรติ ผอ.สบอ.2 (ศรีราชา) สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามอาการลูกช้างป่าทั้งสองตัวอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติให้รายงานทันทีเพื่อให้การรักษาต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการดูแลและอนุรักษ์ช้างป่าให้กลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างปลอดภัย

สำเร็จแล้ว ภารกิจสุดอันตรายช่วยลูกช้างติดบ่วง ฝูงช้าง 60 ตัว ยืนเฝ้าไม่ห่าง