นักวิจัยไทยพบ “หอยทากบกเรืองแสง” ครั้งแรกในไทย และของโลกในรอบ 80 ปี

14 มิถุนายน 2567

นักวิจัย จุฬาฯ พบหอยทากบกเรืองแสงตัวแรกของไทย และของโลกในรอบ 80 ปี เตรียมถอดรหัสพันธุกรรม ปูทางสู่การวิจัยทางการแพทย์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านการเรืองแสงของหอย

     "ชุมชนยั่งยืน" พามาติดตามเรื่องราวการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศของประเทศไทย โดยนักวิจัยไทย ครั้งเเรกของไทย สำหรับ "หอยทากบกเรืองแสง" สิ่งมีชีวิตที่ถูกถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2485 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ดร.ยาตะ ฮาเนดะ (Dr. Yata Haneda) ซึ่งในเวลานั้น หอยทากสกุล Quantula ชนิดStriata ที่ค้นพบ จัดได้ว่าเป็นหอยทากบกเพียงชนิดเดียวในโลกที่เรืองแสงได้

นักวิจัยไทยพบ “หอยทากบกเรืองแสง” ครั้งแรกในไทย และของโลกในรอบ 80 ปี

80 ปีต่อมาเจอครั้งเเรกในประเทศไทยที่จังหวัดสระบุรี 

     อีกเกือบ 80 ปีต่อมา หอยบกที่มีความสามารถในการเรืองแสงถูกค้นพบอีกครั้งในประเทศไทย! โดยทีมนักวิจัยจุฬาฯ นำโดย ดร.อาทิตย์ พลโยธา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบหอยเรืองแสงตัวแรกของไทย เป็นหอยทากบกสกุล Phuphania ที่อาศัยอยู่บริเวณเขาหินปูน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

นักวิจัยไทยพบ “หอยทากบกเรืองแสง” ครั้งแรกในไทย และของโลกในรอบ 80 ปี

“การค้นพบหอยเรืองแสงในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศของไทยมีความหลากหลาย และน่าจะยังมีสัตว์หรือพืชพันธุ์อีกหลายอย่าง ที่มีเฉพาะในประเทศไทยหรือเฉพาะในภูมิภาคนี้เท่านั้น ที่รอให้เราค้นพบและศึกษา” 
 

นักวิจัยไทยพบ “หอยทากบกเรืองแสง” ครั้งแรกในไทย และของโลกในรอบ 80 ปี

เปิดประตูให้นักวิทยาศาสตร์ไทย ศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้านการปรับตัว

     การค้นพบหอยทากบกเรืองแสงครั้งแรกในประเทศไทยนับเป็นการเปิดประตูให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้านการปรับตัวและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย

นักวิจัยไทยพบ “หอยทากบกเรืองแสง” ครั้งแรกในไทย และของโลกในรอบ 80 ปี

ชนะผลโหวตอันดับ 1 “หอยนานาชาติ ประจำปี 2024”

     ทีมวิจัยได้ส่งข้อมูลเรื่องราวการค้นพบ “หอยทากบกเรืองแสงของไทย” เข้าร่วมแข่งขันในเวที “International Mollusc of the Year 2024” การแข่งขันที่เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกส่งผลงานที่ตนศึกษาหรือค้นพบเข้าประกวด และหอยทากบกเรืองแสงของไทยก็ชนะผลโหวตเป็นอันดับ 1 ถูกคัดเลือกให้เป็น “หอยนานาชาติ ประจำปี 2024”

ความสำคัญของการชนะผลโหวตนี้จะทำให้ไทยได้รับการสนับสนุนการถอดรหัสและศึกษาพันธุกรรมหอยทากชนิดดังกล่าวในลำดับต่อไป
 

นักวิจัยไทยพบ “หอยทากบกเรืองแสง” ครั้งแรกในไทย และของโลกในรอบ 80 ปี

จุดเริ่มต้นการค้นพบหอยเรืองแสง
     ดร.อาทิตย์เล่าว่า การค้นพบการเรืองแสงทางชีวภาพในหอยทาก เริ่มต้นจากทีมวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.จิรศักดิ์ สุจริต, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิโยรส ทองเกิด และดร.อาทิตย์ ได้ศึกษาความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของหอยทากบก พบว่าหอยทากบกสกุล Quantula ที่ค้นพบครั้งแรกจากนักวิจัยชาวญี่ปุ่นนั้นมีความใกล้ชิดกับหอยทากบกสกุล Phuphania ในประเทศไทย

     จึงน่าจะมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ประเทศไทยจะมีหอยทากบกที่มีความสามารถในการเรืองแสง ทีมวิจัยนำโดย ดร.อาทิตย์จึงเริ่มวางแผนการศึกษาและสำรวจความหลากหลายของหอยทากบกในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย 

นักวิจัยไทยพบ “หอยทากบกเรืองแสง” ครั้งแรกในไทย และของโลกในรอบ 80 ปี
     ดร.อาทิตย์กล่าวว่าหอยทากบกเรืองแสงอยู่ในระบบนิเวศป่าเขตร้อนในประเทศไทย สามารถพบได้ทั้งในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ในบริเวณเขาหินปูนและที่ไม่ใช่เขาหินปูน อย่างไรก็ตาม การพบหอยทากบกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

     “หอยทากบกเป็นสัตว์หายากประมาณหนึ่ง เพราะจะพบแพร่กระจายบางพื้นที่และพบเจอได้เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น นอกจากนี้ หอยทากเหล่านี้ขนาดไม่ใหญ่ หลบซ่อนตัวเก่ง และไม่เคลื่อนที่ แม้เราจะเดินเข้าไปใกล้ ๆ ทำให้ต้องใช้ความพยายามและความละเอียดอย่างมากในการมองหา” 

ราวหนึ่งปี ความพยายามในการค้นหาหอยทากบกที่มีความสามารถในการเรืองแสงก็สิ้นสุดลง ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2563 ดร.อาทิตย์และทีมวิจัย ค้นพบหอยทากบกเรืองแสงตัวแรกของไทย ที่อาศัยอยู่บริเวณเขาหินปูน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

นักวิจัยไทยพบ “หอยทากบกเรืองแสง” ครั้งแรกในไทย และของโลกในรอบ 80 ปี

     จากนั้น ทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็เริ่มศึกษาวิจัยหอยทากบกเรืองแสงของไทยโดยร่วมมือกับทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร. Yuichi Oba, Dr. Daichi Yano และ Gaku Mizuno จาก Chubu University ญี่ปุ่น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาสิ่งมีชีวิตเรืองแสง อาทิ ปลา ไส้เดือน และหิ่งห้อย

     การศึกษาวิจัยหอยทากบกเรืองแสงดำเนินไป 3 ปี ในที่สุด ผลงานวิจัยหอยทากบกเรืองแสงของไทยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ฉบับที่ 13 ในปี 2566

 

การวิจัยเกี่ยวกับหอยในอนาคต
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิโยรส ทองเกิด อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวถึงการวิจัยเกี่ยวกับหอยในอนาคตว่า หอยทากบกเรืองแสงของไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น International Mollusc of the Year ในครั้งนี้จะได้นำไปวิเคราะห์และผลิตข้อมูลจีโนมฉบับเต็มต่อไป ซึ่งทางหน่วยงานผู้จัดจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด

     “ข้อมูลจีโนม เป็นพิมพ์เขียวของสิ่งมีชีวิต หรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตหนึ่ง ๆ โดยนับรวมทั้งส่วนที่เป็นยีนและส่วนที่ไม่มีการถอดรหัสด้วย ซึ่งเราต้องการทราบว่ายีนใดที่ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงออก แล้วทำให้หอยสามารถเรืองแสงได้ ข้อมูลที่ได้ก็จะต้องนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหอยเรืองแสงที่อยู่ในระบบนิเวศอื่น ๆ เช่น น้ำจืดและทะเล เพื่อให้เข้าใจวิวัฒนาการของการเรืองแสงในสัตว์กลุ่มนี้”

นอกจากการศึกษาเรื่องการเรืองแสงของหอยแล้ว ทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กำลังศึกษาเกี่ยวกับ “เมือกจากหอย” เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะในการผลิตเป็นผ้าก็อตพันแผล

     “ปัจจุบันทีมนักวิจัยได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาจีโนมของหอยเพื่อหาโปรตีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตเมือกเหนียว การค้นพบโปรตีนเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจกระบวนการทางชีวภาพที่ทำให้หอยสามารถผลิตเมือกที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวได้ และอาจนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูงได้ในอนาคต” ดร.ปิโยรส กล่าวปิดท้าย


ขอบคุณภาพเเละข้อมูล : https://www.facebook.com/ChulalongkornUniversity