ทำความเข้าใจ! ระหว่าง “เครดิตบูโร กับ ติดแบล็คลิสต์” แตกต่างกันอย่างไร
ก่อนอื่น ไปทำความรู้จัก คำว่า เครดิตบูโร คืออะไร?
เครดิตบูโร คือชื่อเรียกของ "บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด" หรือ "National Credit Bureau" ซึ่งเป็นบริษัทที่รวบรวมข้อมูลเครดิตจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก ซึ่งสถาบันการเงินและเจ้าของข้อมูลสามารถเรียกดูรายงานข้อมูลได้ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในรายงานจะระบุพฤติกรรมการชำระเงิน ทั้งประวัติดี ประวัติชำระล่าช้า เพื่อให้สถาบันการเงินใช้ประกอบการตัดสินใจพิจารณาสินเชื่อในอนาคต
แบล็คลิสต์ คืออะไร?
หลายคนเข้าใจผิดว่าถูกขึ้นแบล็กลิสต์ (Blacklist) กับเครดิตบูโร ซึ่งในความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเครดิตบูโรมีหน้าที่เพียงเก็บและรายงานข้อมูลการชำระเงินของลูกค้าที่ขอสินเชื่อ ไม่มีหน้าที่อนุมัติสินเชื่อแต่อย่างใด
โดยยกตัวอย่างเช่น หากเราขอเช่าซื้อรถยนต์กับไฟแนนซ์ A เมื่อไฟแนนซ์ A ขอเรียกดูข้อมูลเครดิตของคุณกับเครดิตบูโร แล้วพบว่าผู้ยื่นกู้มีประวัติผิดนัดชำระเกิน 90 วัน ไม่ว่าจะเป็นวงเงินสินเชื่อ, บัตรเครดิต, ผ่อนบ้าน หรือผ่อนรถ ฯลฯ ไฟแนนซ์ A ก็มีสิทธิ์พิจารณาไม่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ให้คุณได้ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงที่อาจถูกเบี้ยวหนี้
แล้วถ้าเคยมีประวัติค้างชำระ จะสามารถกู้ซื้อรถยนต์ได้ไหม?
ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลไว้ได้ไม่เกิน 36 เดือน หรือ 3 ปี โดยจะมีข้อมูลใหม่แทนที่ข้อมูลเก่าไปเรื่อยๆ ทุกเดือน ดังนั้น หากรู้ตัวว่ามีประวัติค้างชำระที่ส่งผลให้ขอสินเชื่อได้ยาก ก็ควรชำระให้เรียบร้อยเสียก่อน จนกระทั่งบัญชีกลับมาเป็นปกติ หากไม่ต้องการมีประวัติค้างชำระอยู่ในเครดิตบูโร ก็ต้องรอไปอีก 36 เดือน นับตั้งแต่วันที่บัญชีกลับมาเป็นปกติ เพื่อให้ประวัติค้างชำระหายไปครับ
กรณีค้างค่างวดโทรศัพท์ หรือ ค่าน้ำ ค่าไฟ จะติดเครดิตบูโรหรือไม่?
โดยในปัจจุบันหนี้จำพวกค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าโทรศัพท์มือถือ, ค่าน้ำ, ค่าไฟ หรือแม้กระทั่งกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยส.) ไม่มีการส่งข้อมูลให้กับเครดิตบูโร เพราะฉะนั้นสบายได้เลยครับ แต่ข้อแนะนำที่ดี คือ เราควรชำระสินเชื่อ หรือ ค่าใช้จ่ายใดๆ ให้ต้องเวลา อย่าเผลอทำเครดิตเสีย จะได้ไม่มีปัญหาภายในอนาคตครับ!