(16 กันยายน 2565)สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย(Thai Industrial Hemp Trade Association:TiHTA)รุกคืบในการผลักดันพืชกัญชงสู่พืชเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และภารกิจในการปั้นไทยสู่ฮับอุตสาหกรรมกัญชงแห่งเอเชีย ผนึกกำลัง หน่วยงานรัฐ สมาคมอุตสาหกรรมการผลิต และเอกชนลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU)15ฉบับ เชื่อมโยงเครือข่ายการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงในภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์และร่วมฉลองนานาชาติให้ความสนใจ และขานรับไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงาน“Asia International Hemp Expo 2022”งานแสดงสินค้า การจับคู่ทางธุรกิจ และการประชุมนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยได้รับความร่วมมือจาก 25 ประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลกณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TiHTA)เผยว่า จากการผลักดันร่วมกันของภาคผู้ประกอบการในการนำพืชกัญชงมาใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมของสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทยร่วมกันจริงจังมาเกือบ 2 ปี ตอนนี้เราได้เห็นแล้วความคืบหน้าอย่างมาก ในการนำกัญชงป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
และวันนี้หลายสถาบัน และสมาคมในอุตสาหกรรมการผลิตที่มาลงนามร่วมกันได้มีการดำเนินงานร่วมกับสมาคมฯ มานานแล้วก็ได้เริ่มมีผลงานวิจัย และต้นแบบผลิตภัณฑ์ ที่ใช้กัญชงเป็นวัตถุดิบออกมาบ้างแล้ว เช่น สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ร่วมกันวิจัยและพัฒนากับสมาชิกสมาคมฯ ออกมาเป็นวัสดุทางการแพทย์ หรือทางสถาบันอาหาร ที่ทำการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการและมาตรฐานการนำส่วนของกัญชงไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารอย่างมีมาตรฐาน
นอกจากนั้นยังมีสมาคมอื่นๆ อีกมากมายที่เราร่วมงานกันและยังไม่ได้กล่าวถึง ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมผนึกกำลังกันและวันนี้ถือเป็นโอกาสดีมาก ที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือย่างเป็นทาง และทางสมาคมฯ ก็ยินดีต้อนรับทุกๆความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกัญชงให้ครบครันในทุกมิติ สู่เศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และยั่งยืน และที่สำคัญวันนี้เรามีผู้แทนพันธมิตรจากต่างประเทศมาร่วมเป็นสักขีพยานด้วยคือ มร.ทาคาชิ โอคานูมะ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้แทนจาก International Environmental Hemp Forum ที่เข้ามาทำงานร่วมกันกับสมาคมฯ และสมาคมฯได้สร้างเครือข่ายทางธุรกิจกว่า 25 ประเทศแล้วในขณะนี้ที่สนใจเข้ามาเจรจาและสร้างโอกาสในอุตสาหกรรมกัญชงกับประเทศไทย ความต้องการในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเปิดกว้างทำให้กัญชงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล และคาดว่าตลาดกัญชงสามารถสร้างรายได้กว่า 2 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ครั้งนี้ สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ได้ร่วมลงนามทั้งสิ้น 15ฉบับ ร่วมกับ (1)กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(2)สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและ(3)สถาบันอาหาร ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมในอุตสาหกรรมการผลิตได้แก่ (4)สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย(5)สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย (6) สมาคมไทยคอมโพสิท (7) สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (8) สมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร(9) สมาคมเฟอร์นิเจอร์ไทย (10) สมาคมธุรกิจไม้ (11) สมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน(12) สมาคมกาแฟและชาไทย(13) สมาคมผู้ประกอบการสปาไทย (14) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.)และ (15) บริษัทเอ็นซีซีเอ็กซิบิชั่นออแกนไนท์เซอร์จำกัดและบริษัทเอ็นซีซีแมนเนจเม้นท์แอนด์ดีวีล๊อปเม้นท์จำกัด
โดยมีความมุ่งหมายและการบูรณาการระหว่างสมาคมร่วมกัน เพื่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การผลิตที่มีมาตรฐาน ในปริมาณและราคาที่บริหารจัดการได้ล่วงหน้า รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์ของพืชกัญชงอย่างถูกต้องให้สอดคล้องกับแต่ละอุตสาหกรรม และสามารถเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจระหว่างกันของสมาชิกและเครือข่ายเพื่อเชื่อมทุกความเป็นไปได้ ในการทำให้ประเทศไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมกัญชงแห่งเอเชีย ผ่านงาน “Asia International Hemp Expo”ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยความร่วมมือกับสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย เพื่อบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากกัญชงให้มีคุณภาพและสามารถผลิตแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ พร้อมสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านอาหารแปรรูป วัสดุและผลิตภัณฑ์จากส่วนต่างๆ ของพืชกัญชงแก่ผู้ประกอบการ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่บุคลากรซึ่งกันและกัน รวมทั้งการจัดทำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยใช้กลไก SDO(Standards Developing Organizations) เพื่อการรับรองคุณภาพสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้านวัตกรรม ที่เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถจดทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย และผลิตเพื่อจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรมได้ นับเป็นการขับเคลื่อนกัญชงไปสู่พืชเศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืน
นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น. ซี. ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัดเผยถึงพิธีลงนามความร่วมมือในวันนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมการขับเคลื่อนและผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมกัญชงแห่งเอเชีย และเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องต่ออุตสาหกรรมกัญชงของไทย โดยเริ่มจากการจัดงานแสดงสินค้า “Asia International Hemp Expo 2022” ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่รวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกัญชงอย่างครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำทั้งเทคโนโลยีการเพาะปลูก เทคโนโลยีการวิจัย ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สำหรับอุตสาหกรรมกัญชงในรูปแบบ Business to Business (B2B) ครั้งแรกของเอเชีย
ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำกัญชงไปใช้ ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์และอากาศยาน อาหารเครื่องดื่ม อาหารเสริม การแพทย์ สปาและสมุนไพร เครื่องสำอาง แฟชั่นเสื้อผ้าและสิ่งทอ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เฟอร์นิเจอร์ อาหารสัตว์ เป็นต้น บนพื้นที่ส่วนแสดงกว่า 5,000 ตารางเมตร คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมแสดงจากทั้งในและต่างประเทศกว่า 300 บริษัท และการจัดประชุมนานาชาติโดยวิทยากรจากทั้ง 5 ทวีป รวมถึงบริการจับคู่ทางธุรกิจ ส่วนแสดงพิเศษ และกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย สำหรับนักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ
สำหรับในช่วงท้าย เสวนา “โอกาสของประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมกัญชงเอเชีย” โดยดร.ชาญชัยสิริเกษมเลิศผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอนางอนงค์ไพจิตรประภาภรณ์ผู้อำนวยการสถาบันอาหารและนายวีระขวัญเลิศจิตต์ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกร่วมแชร์มุมมองถึงศักยภาพของพืชกัญชงสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทานและองค์ประกอบของประเทศไทยในการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางกัญชงของเอเชีย
ติดตามข้อมูลของสมาคมการค้าอุตสาหกรรมได้ทาง www.tihta.orgหรือ Facebook: @TIHTA.Officialและติดตามข่าวสารล่าสุดของงาน“Asia International Hemp Expo 2022”ได้ทาง www.asiahempexpo.comหรือ Facebook: @asiahempexpo