นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ประกาศห้ามใช้และนำเข้าผลิตครีมกันแดดที่ผสมสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อปะการังและระบบนิเวศทางทะเล ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้ง 26 แห่ง ทั่วประเทศจนหลายบริษัทผู้ผลิตครีมกันแดดได้เร่งปรับสูตรผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่ปราศจากสารเคมีอันตรายจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl Methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) Butylparaben
ในวันนี้ (19 กันยายน 2565) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมลงนามความร่วมมือกับ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ณ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมุ่งเน้นความร่วมมือในการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ไม่ผสมสารทำลายปะการัง โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เตรียมขยายผลในพื้นที่แนวปะการังสำคัญของประเทศและพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรอื่นอย่างต่อเนื่อง ต่อไป
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนได้รับทราบรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการสนับสนุนผู้ผลิตภาคเอกชนในการเลิกใช้สารเคมีที่ทำลายทรัพยากรปะการังและระบบนิเวศทางทะเลในครีมกันแดด ซึ่งทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศห้ามนำเข้าและใช้ครีมกันแดดผสมสารเคมีที่ทำลายปะการังในอุทยานแห่งชาติทางทะเล 26 แห่ง แล้ว
สำหรับพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ทยอยประกาศบังคับใช้ในพื้นที่ที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนก่อน อย่างไรก็ตาม ตนเล็งเห็นถึงประโยชน์จากการยกเลิกการผสมสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังและระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นเสมือนการตัดไฟแต่ต้นลม อีกทั้ง การสร้างเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน เป็นการสร้างความเข้มแข็งในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ซึ่งตนต้องขอชื่นชมบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์มีสทีน ที่ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้ขยายความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นองค์รวม เกิดการศึกษาและพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยให้ยึดถึงความคงอยู่และความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศเป็นสำคัญ พร้อมมอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับการดำเนินงานของหน่วยงานในกระทรวง ทส. ที่เกี่ยวข้องเร่งขยายพื้นที่บังคับใช้และประสานความร่วมมือในพื้นที่ทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเลดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ต่อไป นายวราวุธ กล่าว
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวภายหลังการลงนามความร่วมมือว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ศึกษาและติดตามถึงผลกระทบของสารเคมีในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดต่อปะการังและระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งหลายงานวิจัยชี้ว่าเกิดผลกระทบต่อปะการังจริง อีกทั้งมีหลายพื้นที่ในโลกได้ประกาศห้ามใช้สารเคมีที่ทำลายปะการังในครีมกันแดดแล้วเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ปาเลา ออสเตรเลีย อรูบา และเกาะบอเนียว กรม ทช. จึงได้เริ่มสำรวจและหารือกับหน่วยงานพันธมิตรอย่างบริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันรณรงค์และสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่ไม่ผสมสารเคมีที่ทำลายปะการัง
และได้ตกลงร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ โดยกรม ทช. เป็นหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานด้านวิชาการและการกำหนดมาตรการเชิงนโยบายเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กรม ทช. ได้มีคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 3 ฉบับ บังคับห้ามใช้ครีมกันแดดที่ผสมสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อประการังและระบบนิเวศทางทะเลทั้ง 4 ชนิด ในพื้นที่กองหินแปดไมล์ อ.เมืองสตูล จ.สตูล พื้นที่กองหินใต้น้ำ จำนวน 21 แห่ง ในจังหวัดจันทบุรี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพังงา พื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน และเกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 จนถึงปี 2568 หากละเมิดมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป กรม ทช. จะเร่งประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ และส่งเสริมการวิจัยเพื่อศึกษาผลกระทบของสารเคมีตัวอื่นที่อาจจะมีผลต่อปะการังและระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงสำรวจพื้นที่แหล่งปะการังอื่นที่สำคัญเพื่อประกาศมาตรการห้ามใช้ครีมกันแดดที่ผสมสารเคมีที่ทำลายปะการัง ต่อไป นายโสภณ กล่าว
นายดนัย ดีโรจนวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในนามผู้ผลิตเครื่องสำอางมิสทินและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กันแดดให้กับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติ เป็นระยะเวลามากกว่า 35 ปี ได้ให้ความสำคัญกับการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ถูกต้องตามกฎขององค์การอาหารและยา รวมถึงใส่ใจต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด
ครั้งนี้ทางบริษัทฯ ได้แสดงเจตจำนงค์ในความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ไม่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการัง ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl Methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) Butylparaben ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ปรับสูตรสารประกอบในผลิตภัณฑ์กันแดดโดยยังคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน ปราศจากสารเคมีทั้ง 4 ชนิด อีกทั้ง มีความปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภคและปะการัง อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ พร้อมขยายผลการดำเนินงานและปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศให้คงอยู่อย่างมั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป และขอขอบคุณกรมทช.ที่อนุญาตให้ใช้ตราสัญญลักษณ์ของกรมประทับบนผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของทั้ง4สาร ดังกล่าวด้วยนายดนัย กล่าว
ศ.ดร.ภญ.มาลิน อังสุรังษี กรรมการบริหารบริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะที่บริษัทฯ ผู้ผลิตและพัฒนาคิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์กันแดดมิสทิน ซึ่งมีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้สารจากธรรมชาติหรือสารเคมีได้ผ่านการศึกษาและทดลองในห้องปฏิบัติการอย่างรอบคอบ สำหรับสารเคมีทั้งนี้ 4 ชนิด ที่มีผลการวิจัยถึงผลกระทบต่อปะการังและระบบนิเวศทางทะเล ทางบริษัทฯ ได้เร่งคิดค้นและปรับปรุงสูตรทันที
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ ได้เตรียมขยายผลสู่ผลิตเวชสำอางภายใต้การผลิตของทางบริษัทฯ ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นการยกระดับการดำเนินงานของบริษัทฯ ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศชาติ ซึ่งเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นสมบัติของชาติและลูกหลานของเราทุกคน ต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลและรองคณบดี คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ระบบนิเวศปะการังนับเป็นระบบนิเวศเฉพาะที่มีความเปราะบางเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายเมื่อได้รับการรบกวนจากสิ่งแวดล้อม สำหรับสารเคมีทั้ง 4 ชนิด ที่ผสมในผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีขายอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน งานวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่าส่งผลกระทบต่อตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ และทำให้เกิดปะการังฟอกขาว
เราอย่าคิดว่าทะเลกว้างใหญ่แล้วปริมาณสารเคมีเพียงเล็กน้อยจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการังได้ ซึ่งมีงานวิจัยออกมาแล้วว่าหลายพื้นที่ในโลกมีปริมาณสารเคมีดังกล่าวปนเปื้อนในน้ำทะเลในปริมาณที่สูงพอที่จะส่งผลกระทบต่อปะการังได้ หลายประเทศได้ประกาศห้ามผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารเคมีดังกล่าวแล้ว ประเทศไทยมีแหล่งปะการังกระจายอยู่ทั่วประเทศ ถูกรบกวนจากกิจกรรมมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางทะเล ขยะทะเล การประมงและการท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสม อย่าให้สารเคมีมาสร้างปัญหาและทำลายทรัพยากรปะการังของประเทศเพิ่มขึ้นอีกเลย หากช่วยกันรักษาปะการังได้ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่งเราทุกคนก็ควรช่วยกันทำเพื่อความคงอยู่อย่างยั่งยืนของระบบนิเวศทางทะเลของประเทศไทย ดร. ธรณ์ กล่าวทิ้งท้าย