31 ตุลาคม 2567 : ณ ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้พบปะหารือร่วมกับคณะกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ) นำโดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งสภาดิจิทัลฯ และ ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ พร้อมด้วย รองประธานสภาดิจิทัลฯ นายลักษมณ์ เตชะวันชัย ดร.วีระ วีระกุล นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ นายประกอบ จ้องจรัสแสง และ ว่าที่ร้อยตรี ดร. ธเนศ โสรัตน์ และ ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางในการผนึกกำลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาค โดยวางแผนพัฒนาภายใต้แนวคิด Growth Engine of Thailand ครอบคลุมการสร้างนวัตกรรม กำลังคนดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล และดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งสภาดิจิทัลฯ ระบุว่า ปัจจุบันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านทั้งในด้านนวัตกรรมและจำนวน Startup โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้เทคโนโลยี และการสนับสนุนจากภาครัฐในโครงการต่าง ๆ เช่น Accelerator และ Seed Fund แนวทางที่สำคัญคือการสร้าง Innovation Clusters อย่างน้อย 5 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งในการพัฒนาและเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย รวมถึงการลงทุนในด้านการศึกษาและวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมที่แข่งขันได้ระดับโลก นอกจากนี้ ยังชี้ถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในโครงการ Smart City และ Smart School ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดอัตราอาชญากรรม โดยยกตัวอย่างจากความสำเร็จของเมืองเสินเจิ้น และได้เน้นย้ำถึงการส่งเสริมสื่อคุณธรรมและจริยธรรมในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ เพื่อสนับสนุน Soft Power ไทยสู่เวทีโลกและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
พร้อมกันนี้ ประธานอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งสภาดิจิทัลฯ ได้กล่าวต่อไปว่า ในการจัดอันดับ IMD World Digital Competitiveness Ranking 2023 ประเทศไทยได้ขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 35 ของโลก สะท้อนถึงการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาที่ก้าวกระโดด และย้ำว่าการพัฒนาเศรษฐกิจต้องมาควบคู่กับการพัฒนาสังคม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
ขณะที่ ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ ได้ชี้ถึงบทบาทสำคัญของสภาดิจิทัลฯ ในการเป็นผู้นำภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อสร้างอนาคตดิจิทัลที่แข็งแกร่งให้กับประเทศไทย ซึ่งสภาดิจิทัลฯ มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและมีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เช่น การผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 กฎหมายยกเว้นภาษีสำหรับการลงทุนใน Startup และมาตรการ Thailand Plus Package พร้อมกันนี้ สภาดิจิทัลฯ ได้เสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1)นวัตกรรม (Innovation) : สร้างสรรค์เทคโนโลยีและโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศ 2) กำลังคนดิจิทัล (Digital Workforce) : เพิ่มพูนทักษะบุคลากรให้พร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล 3) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) : ขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 4) ดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน (Digital Sustainability) : สร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ทั้งนี้ ม.ร.ว. นงคราญยังเน้นย้ำถึงการร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เน้นย้ำว่าข้อเสนอจากสภาดิจิทัลฯ สอดคล้องอย่างยิ่งกับนโยบาย Growth Engine of Thailandของรัฐบาล ซึ่งมุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่แข็งแกร่งใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ โดยการสร้าง Data Center, พัฒนา AI และระบบรัฐบาลดิจิทัลที่มีความทันสมัย 2) การสร้างความปลอดภัยในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ผ่านการจัดเก็บข้อมูลในประเทศ (Data Localization) และการพัฒนา Application ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ 3) การเพิ่มศักยภาพบุคลากรดิจิทัล ด้วยการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้ประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อรองรับตลาดแรงงานดิจิทัลในอนาคต
ในการประชุมครั้งนี้ นายประเสริฐ มอบหมายให้สภาดิจิทัลฯ ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอต่าง ๆ ให้เป็นจริง นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้สภาดิจิทัลฯ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ Soft Power แห่งชาติ เพื่อช่วยขับเคลื่อนศักยภาพของประเทศไทยในเวทีโลก พร้อมร่วมกันกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และแผนปฏิบัติการในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลภายใน 3 ปี โดยมีการรายงานผลความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
การผนึกกำลังในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงถึงบทบาทที่แข็งแกร่งของสภาดิจิทัลฯ ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนที่พร้อมร่วมมือกับภาครัฐเพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งภูมิภาคอย่างแท้จริง