กอนช. (กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ) แจ้ง 6 กระทรวง เร่งแผนฟื้นฟู-เยียวยาประชาชน แจ้งข้อมูลคาดการณ์ช่วงเวลาน้ำลดเข้าสู่ภาวะปกติในพื้นที่ภาคกลาง-อีสาน เพื่อระดมกำลังเร่งวางแผนให้ความช่วยเหลือ ล่าสุดวันนี้ 27 ต.ค. 65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กอนช. โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงเร่งติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และอำนวยการการปฏิบัติงาน บริหารจัดการมวลน้ำ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายโดยเร็วที่สุดตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการระบายน้ำอย่างเร่งด่วน คู่ขนานไปกับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทันที
เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความชัดเจนถึงช่วงเวลาของระดับน้ำที่จะลดลง และเตรียมพร้อมจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนเชิงพื้นที่ในการระดมกำลังคน ทรัพยากรต่างๆ เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงงบประมาณในการเข้าไปฟื้นฟูเยียวยาพื้นที่ที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กอนช. ได้ทำหนังสือด่วนถึง 6 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ส่งข้อมูลคาดการณ์ช่วงเวลาที่สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะเริ่มทยอยเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือน พ.ย.นี้ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึงรับทราบถึงแผนการระบายน้ำออกจากทุ่งลุ่มต่ำโดยศูนย์ส่วนหน้าฯ ภาคกลาง เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างด้วยเช่นกัน
โดยภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง และภาคอีสาน ขณะนี้มีแนวโน้มลดลงและเริ่มคลี่คลายตามลำดับ เนื่องจากไม่มีปริมาณฝนตกเพิ่มเติมในพื้นที่ ซึ่งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ภาคกลาง และภาคอีสาน ยังคงวางแผนการบริหารจัดการน้ำ หน่วงน้ำ ชะลอน้ำ และกักเก็บน้ำ รวมถึงการเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ส่งผลให้พื้นที่ประสบอุทกภัยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลุ่มเจ้าพระยาล่าสุด พบว่า ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักทุกสถานีมีแนวโน้มลดลง ตั้งแต่แม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสะแกกรัง ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 17.65 เมตร ปัจจุบันระบายน้ำ 2,221 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อน 15.11 เมตร ลดลง 14 เซนติเมตร (ซม.) ส่วนลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ระดับน้ำลดลงแต่ยังคงสูงกว่าตลิ่ง โดยที่สถานี M.7 จ.อุบลราชธานี สูงกว่าตลิ่งฝั่ง อ.วารินชำราบ 3.26 เมตร ลดลงจากเมื่อวาน (26 ต.ค.65) 13 ซม. ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำจะลดต่ำกว่าตลิ่งตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้”ดร.สุรสีห์ กล่าว
สำหรับพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมปัจจุบันคงเหลือรวม 29 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 4 จังหวัด พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี และนครสวรรค์ ภาคกลาง 10 จังหวัด สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม ชัยนาท นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี และสระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด หนองบัวลำภู ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยโสธร นครราชสีมา และสุรินทร์ ภาคตะวันออก 2 จังหวัด นครนายก ปราจีนบุรี และ ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี