ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 54/2565 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน 2565 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง จะเคลื่อนผ่านบริเวณปลายแหลมญวน อ่าวไทยตอนบน เข้าสู่แนวร่องมรสุมที่เลื่อนขึ้นมาพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์และประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ
จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอท่ายาง บ้านลาดชะอำ แก่งกระจาน และเมืองเพชรบุรี)
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอบางสะพาน เมืองประจวบคีรีขันธ์ ทับสะแก บางสะพานน้อย และกุยบุรี)
จังหวัดระนอง (อำเภอละอุ่น)
จังหวัดชุมพร (อำเภอปะทิว เมืองชุมพร สวี ทุ่งตะโก หลังสวน ละแม ท่าแซะ และพะโต๊ะ)
จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอดอนสัก เกาะสมุย กาญจนดิษฐ์ บ้านนาสาร เกาะพะงัน เมืองสุราษฎร์ธานี บ้านนาเดิม พุนพิน พนม บ้านตาขุน และท่าชนะ)
จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง เมืองพังงา กะปง ทับปุด และตะกั่วทุ่ง)
จังหวัดภูเก็ต (อำเภอถลาง และเมืองภูเก็ต)
จังหวัดกระบี่ (อำเภอปลายพระยา อ่าวลึก และเมืองกระบี่)
จังหวัดตรัง (อำเภอนาโยง เมืองตรัง ห้วยยอด และรัษฎา)
จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอทุ่งสง ลานสกา ร่อนพิบูลย์ ขนอม ช้างกลาง นาบอน พระพรหม จุฬาภรณ์ สิชล เมืองนครศรีธรรมราช นบพิตำ ฉวาง พรหมคีรี เฉลิมพระเกียรติ พิปูน ทุ่งใหญ่ ชะอวด ถ้ำพรรณรา ท่าศาลา บางขัน และปากพนัง)
จังหวัดพัทลุง (อำเภอศรีนครินทร์ ศรีบรรพต เมืองพัทลุง ควนขนุน และป่าพะยอม)
จังหวัดสตูล (อำเภอละงู และเมืองสตูล)
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง และแม่น้ำปากพนัง
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews