วันที่ 3 กันยายน 2566 ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 17/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 5 – 10 กันยายน 2566 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม
1.1 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน)จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง อุ้มผาง แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ) จังหวัดแพร่ (อำเภอร้องกวาง) จังหวัดน่าน (อำเภอปัว บ่อเกลือ เชียงกลาง ทุ่งช้าง ท่าวังผา เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย และเนินมะปราง) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเขาค้อ และเมืองเพชรบูรณ์) จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอน้ำปาด) จังหวัดกำแพงเพชร (อำเภอคลองลาน)
1.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอภูเรือ) จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอหนองบัวแดง) จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอเมืองมุกดาหาร) จังหวัดนครพนม (อำเภอธาตุพนม) จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอปากช่อง)
1.3 ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บ้านโพธิ์ บางน้ำเปรี้ยว และบางปะกง) จังหวัดนครนายก (อำเภอปากพลี และองครักษ์) จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอประจันตคามและบ้านสร้าง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง และแหลมสิงห์) จังหวัดตราด (อำเภอคลองใหญ่ เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง แหลมงอบ และบ่อไร่)
1.4 ภาคกลาง จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่) จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ)
1.5 ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอฉวาง และพิปูน) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต และถลาง)
2. พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จังหวัดน่าน
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน
2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
ประกาศ ณ วันที่ 3 กันยายน 2566