ทำได้จริงหรือไม่! เปิดบทวิเคราะห์นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นนโยบายพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับ"ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" โดยได้มีการวิเคราะห์ว่านโยบายดังกล่าวว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำได้หรือไม่นั้น
จากกรณี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม บอกว่า “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ต้องใช้เวลาเจรจาไม่น่าจะเกิน 2 ปี” นโยบายสำคัญเช่นนี้รัฐบาลจะทำได้ หรือจะล้มเหลวเหมือนในอดีต ติดตามได้จากบทความนี้
1. หาเสียงเลือกตั้งปี 2566
พรรคเพื่อไทยหาเสียงกับชาวกรุงเทพฯ ว่าจะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยไม่บอกรายละเอียดว่านั่งรถไฟฟ้าได้สายเดียว หรือหลายสาย มีวิธีการทำอย่างไร คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าใจกันว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลเสร็จแล้วคงจะได้นั่งรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในไม่นาน แต่ก็ต้องผิดหวังอย่างแรง เมื่อ รมว. คมนาคม เผยว่าต้องรออีก 2 ปี ทั้งที่บอกว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน จะต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ไม่ใช่ให้รอถึง 2 ปี
2. รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำได้จริงหรือ?
ผมขอตอบว่าทำได้จริง ถ้ารัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เดินรถไฟฟ้า อันประกอบด้วยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด ตามด้วยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามลำดับ ก่อนจะหาเสียงด้วยนโยบายนี้ หากมีการเตรียมข้อมูลดังต่อไปนี้ไว้ก่อน ก็จะสามารถทำให้นโยบายนี้เป็นจริงได้โดยเร็ว ไม่ใช่ให้รอถึง 2 ปีรายได้จากค่าโดยสารของผู้เดินรถไฟฟ้าตามอัตราค่าโดยสารในปัจจุบัน
รายได้จากค่าโดยสารกรณีเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ซึ่งประกอบด้วยรายได้จากผู้โดยสารเดิม (รวมทั้งผู้โดยสารเดิมที่จะเดินทางเพิ่มขึ้น) และรายได้จากผู้โดยสารใหม่ (ผู้โดยสารที่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้รถไฟฟ้า แต่เมื่อค่าโดยสารถูกลง เขาเหล่านี้จะหันมาใช้รถไฟฟ้า)
ผลต่างของรายได้ทั้ง 2 ข้อดังกล่าวข้างต้น คือรายได้ที่ผู้เดินรถไฟฟ้าได้รับน้อยลง นั่นคือเงินชดเชยที่รัฐบาลจะต้องจ่ายให้เขา
ถ้าต้องการให้นโยบายนี้สำเร็จโดยด่วน กระทรวงคมนาคมสามารถหาข้อมูลดังกล่าวได้ทันที ผมมั่นใจว่าถ้ารัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เดินรถไฟฟ้า รัฐบาลจะได้รับความร่วมมืออย่างดี ดังนั้น การบอกให้รอถึง 2 ปี จึงเป็นข้ออ้างที่ยากจะเชื่อ
3. ความล้มเหลวในอดีต
ผมอยากให้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เกิดขึ้นได้จริง ไม่อยากให้ล้มเหลวเหมือนในอดีตที่รัฐบาลไม่สามารถทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงได้ ดังนี้
ปี 2547 รัฐบาลในขณะนั้น อยากจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าลดลงเหลือ 15 บาทตลอดสาย มีแนวคิดที่จะซื้อสัมปทานคืน ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก สุดท้ายก็ล้มเหลว
ปี 2554 ตอนหาเสียงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แต่พอได้เป็นรัฐบาลกลับไม่ทำ ในขณะนั้นผมเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งกระทู้สดถาม รมว. คมนาคม (ในขณะนั้น) ว่าทำไมไม่ทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าลดลงเหลือ 20 บาทตลอดสายตามที่ได้หาเสียงไว้ คำตอบที่ได้คือต้องรอให้ก่อสร้างรถไฟฟ้าครบ 10 สายก่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ครบ 10 สาย ภายในระยะเวลาของรัฐบาล คือ 4 ปี
4. ข้อเสนอแนะ
ผมมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลดังนี้
เพื่อทำให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลสามารถใช้รถไฟฟ้าได้มากขึ้นให้คุ้มค่ากับเงินลงทุน และเพื่อช่วยให้ผู้โดยสารประหยัดค่าเดินทาง ผมขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาใช้นโยบาย “ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 50 บาท ทั้งวัน ทุกสาย ไม่อั้น”
นั่นหมายความว่า ผู้โดยสารจ่ายเพียง 50 บาท จะขึ้นลงรถไฟฟ้าสายไหน สีไหน กี่เที่ยวก็ได้ภายใน 1 วัน ถ้าใช้รถไฟฟ้า 2 เที่ยวต่อวัน ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยว 25 บาท ถ้าใช้รถไฟฟ้า 4 เที่ยวต่อวัน ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวเหลือเพียง 12.50 บาท เท่านั้น ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสามารถเลือกซื้อตั๋วที่เหมาะสมกับตน หากเห็นว่าตั๋ว 50 บาท ทั้งวัน ถูกกว่าก็ซื้อตั๋วนี้ หากเห็นว่าตั๋วเที่ยวเดียวถูกกว่าก็ซื้อตั๋วเที่ยวเดียว
ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องเจรจากับผู้เดินรถไฟฟ้าทุกรายให้ยอมรับอัตราค่าโดยสารนี้ โดยรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างรายได้จากค่าโดยสารให้ จากการประเมินพบว่ารัฐบาลจะต้องชดเชยส่วนต่างในปีแรกที่ใช้อัตราค่าโดยสารนี้ประมาณ 7,500 ล้านบาท เงินชดเชยนี้จะลดลงเมื่อมีผู้โดยสารใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
นโยบาย “ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 50 บาท ทั้งวัน ทุกสาย ไม่อั้น” จะช่วยประหยัดเวลาเดินทาง ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และลดมลพิษโดยเฉพาะ PM 2.5 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่าเงินที่รัฐบาลจะต้องชดเชยให้ผู้เดินรถไฟฟ้าอย่างแน่นอน
5. สรุป
ถ้ารัฐบาลจริงจังกับการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ไม่ใช้วาทศิลป์สนองตอบคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงในเวลาไม่นานนี้แน่นอนครับ
cr เฟซบุ๊ก : ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte