งานวิจัยเผย”สัตว์เลี้ยง”ช่วยให้เจ้าของมีสุขภาพจิตดีขึ้นได้

16 กุมภาพันธ์ 2567

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Applied Animal Behaviour Science ระบุว่า ”สัตว์เลี้ยง”ช่วยให้เจ้าของมีสุขภาพจิตดีขึ้นได้

หลาย ๆ ท่านอาจเคยได้ยินเรื่องราวว่า ”สัตว์เลี้ยง”สามารถช่วยทำให้เจ้าของมีสุขภาพจิตดีขึ้นได้  เพราะพวกมันทำให้เจ้าของรู้สึกว่ามีเพื่อนอยู่ข้าง ๆ และยังลดความความเครียดได้อีกด้วย

ซึ่งมีรายงานการศึกษาวิจัยมาเป็นเวลานานแล้วว่า การเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก หรือปลา นั้น สามารถช่วยเยียวยาผู้ป่วยได้จริง ผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนหลายคนกำลังมองหาวิธีที่จะรักษาสภาพจิตใจและร่างกายให้แข็งแรงเมื่ออายุมากขึ้น ที่ผ่านมามักมีข้อเสนอแนะข้อหนึ่งเสมอที่พบบ่อยคือ การแนะนำให้ผู้สูงอายุเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมาใช้เพื่อบรรเทาความเหงาและป้องกันโรคซึมเศร้า แม้คำแนะนำนี้จะแพร่หลายในวัฒนธรรมสมัยนิยม แต่ผลการวิจัยยังไม่ชัดเจนว่า การเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง สามารถทำให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุหรือไม่ 

งานวิจัยเผย”สัตว์เลี้ยง”ช่วยให้เจ้าของมีสุขภาพจิตดีขึ้นได้

 

 

รายงานการศึกษานี้ เป็นการศึกษายืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่า การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงช่วยป้องกันหรือรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างไร ต้องบอกก่อนว่า ภาวะซึมเศร้า จัดเป็นปัญหาภาระโรค (Burden of Disease) ที่ทางองค์การอนามัยโลกและมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ทำการศึกษาและทำนายไว้ว่า ภายในปี 2020 นี้ปัญหาโรคซึมแศร้าจะเป็นภาระโรคอันดับสองรองมาจากปัญหาหัวในและหลอดเลือด จากการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ จะสร้างภาระต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ไม่ว่าวัยใดเมื่อป่วยแล้ว จะส่งผลสืบเนื่องทางการแพทย์ สังคม และการเงิน ที่รุนแรง สำหรับผู้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคนี้ รวมถึงผู้ดูแล มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าเป็นโรคร่วมทางการแพทย์ที่ทำให้สามารถลดอายุขัยและภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายอื่นๆ ที่มาพร้อมกับภาวะซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการรักษาโดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางการเงินทางอ้อมให้กับสังคม ส่วนที่ ความทุกข์ส่วนบุคคลจะส่งผลทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้เป็นปกติสุข เป็นต้นเหตุนำไปสู่โรคเรื้อรังทางกายเช่น เบาหวาน ความดัน ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่สูญเสีย และส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศไปอย่างมหาศาล

เมื่อเอ่ยถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขและแมว สำหรับเจ้าของผู้เลี้ยงแล้ว สัตว์เลี้ยงกลุ่มนี้จัดได้ว่าเป็นผู้ให้ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขแก่เจ้าของ ไม่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพื่อนวัยตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุเลยทีเดียว เป็น "เพื่อนสี่ขา" ที่สร้างความรัก ความอบอุ่น และความบันเทิงใจ เสียงหัวเราะได้ตลอดเวลาที่พบหน้ากัน

งานวิจัยเผย”สัตว์เลี้ยง”ช่วยให้เจ้าของมีสุขภาพจิตดีขึ้นได้

 

 

มีรายงานการศึกษาของ E. Paul Chemiack และคณะ จากสถาบันผู้สูงอายุ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยไมอามีมิลเลอร์ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่ได้เผยแพร่ในวาร Current Gerontol Geratic Research ปี 2014 ในฐานข้อมูล NCBI ของสถานบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ โดยทำการศึกษาเรื่อง The Benefit of Pet and Animal-Assisted Therapy to the Health of Older Individuals โดยการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อวัดประสิทธิภาพการรักษาโรคซึมเศร้าและจิตเภท ด้วยการใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด เป็นที่ทราบกันดีว่า สัตว์เลี้ยง เพื่อนสีขา นั้นช่วยเพื่อภาวะสุขภาพจิตดีอาทิ ความเหงา ความโดดเดี่ยว แยกตัวจากสังคม ฯลฯ ต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่มีรายงานการศึกษาใดยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าช่วยบำบัดโรคได้มากน้อยเพียงใด การศึกษานี้จึงเป็นการศึกษาผลต่อพยาธิสภาพของเหล่าสัตว์เลี้ยงที่มีต่อความเจ็บป่วยของบุคคล อย่างไรก็ตามปัญหาความเสี่ยงทางร่างกายของโรคจากสัตว์ก็ไม่ได้ถูกมองข้าม เหล่าผู้เชี่ยวชาญจะมีคำเตือนให้การเลี้ยงและการบำบัดอยู่ภายใต้ขอบเขตเงื่อนไข ซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีการศึกษาที่สมบูรณ์แบบมากนัก

ผลการศึกษา pets therapy ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 144 ราย ที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ในผู้สูงอายุโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเพื่อควบคุม ประเมินผลโดยใช้แบบประเมินทางจิตใจ พบว่า ในกลุ่มที่ได้รับการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงมีค่าคะแนนกลุ่มอาหารทางจิตใจ (psychological symptoms) ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการบำบัดอย่างชัดเจน มีผู้มีป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 28 รายที่ได้รับการประเมินจากแบบประเมินภาวะซึมเศร้า มีอาการของโรคซึมเศร้าลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่การบำบัดในผู้ป่วยโรคจิตเภท กว่า 20 ราย ที่ได้รับการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมว 3 ชม.ต่อสัปดาห์ ด้วยการอาบน้ำ ให้อาหาร ตัดขน ฯลฯ ประเมินผลจาก social functioning ของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ศึกษาในคนแล้ว เพื่อนสี่ขา มีการศึกษาหรือไม่

ในสหรัฐอเมริกามีบริการสัตว์เลี้ยงบำบัดมากกว่า 50,000 ตัว และบริการในลักษณะนี้กำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศตั้ง แต่ประเทศในขั้วโลกเหนือจนถึงขั้วโลกใต้อย่าง นอร์เวย์ไปจนถึงบราซิล บริการสัตว์เลี้ยงบำบัด อาทิเช่น สุนัข ที่ทำหน้าที่เยียวยาจะเข้ารับการฝึกฝนและมีใบรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ ก่อนที่จะส่งพวกมันไปยังโรงพยาบาลหรือตามศูนย์ต่าง ๆ

ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานการวิจัยชี้ว่า สุนัขสามารถช่วยเยียวยาผู้ป่วยได้จริง แต่ยังไม่เคยมีใครสนใจความรู้สึกของสุนัขเองบ้างว่าพวกมันคิดอย่างไร? ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจึงต้องการหาคำตอบนี้ และผลที่ได้นำมาซึ่งความอุ่นใจในการบริการกันต่อไป

ผลการวิจัยล่าสุดนี้ถูกเผยแพร่ลงใน Applied Animal Behaviour Science ระบุว่าสุนัขที่ทำหน้าที่ช่วยบำบัดเหล่านี้ ไม่ได้รู้สึกเครียดจากการทำงาน ตรงกันข้ามในบางกรณี พวกมันรู้สึกมีความสุขเสียด้วยซ้ำ การวิจัยครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งร้อยราย และสุนัขช่วยเยียวยาอีก 26 ตัว รายงานจาก Amy McCullough หัวหน้าวิจัยและผู้อำนวยการด้านการวิจัยและบำบัดแห่งชาติจาก American Humane ในวอชิงตัน ดี. ซี.

การศึกษาการทำงานของสุนัข โดยการวัดระดับความเครียด

ทีมนักวิจัยวัดปริมาณของฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียด โดยวัดได้ในน้ำลายของสุนัข โดยทีมผู้วิจัยเก็บตัวอย่างจากทั้งสุนัขในบ้านและในโรงพยาบาล จากนั้นทีมนักวิจัยบันทึกวิดีโอของสุนัขทั้ง 26 ตัวระหว่างปฏิบัติงาน และวิเคราะห์พฤติกรรมของพวกมัน โดยพวกเขาแบ่งท่าทางการแสดงออกเป็น 3 กลุ่มคือ หนึ่ง ท่าทางที่เป็นมิตรมาก เช่น การเข้าใกล้คนหรือเล่นด้วย, สอง ท่าทางที่บ่งชี้ระดับความเครียดเล็กน้อย เช่นอาการสั่น หรือเลียปากไปมา และสาม ท่าทางที่บ่งชี้ระดับความเครียดสูง จากการส่งเสียงร้องคราง

ผลการวิเคราะห์ทีมนักวิจัยพบว่า ไม่มีความแตกต่างของระดับคอร์ติซอลระหว่างสุนัขที่บ้านและที่โรงพยาบาล รวมทั้งการทำงานเยียวยาผู้ป่วยนั้นไม่ก่อให้เกิดท่าทางที่บ่งชี้ว่ามีความเครียดในสุนัขแต่อย่างใด

ศึกษาการทำงานของสุนัขเพื่อวัดความสนุกจากการทำงาน

ในขณะที่รายงานการศึกษาหนึ่งของทีมวิจัยจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้เผยแพร่ผลการวิจัย ที่สอดคล้องกับงานวิจัยสุนัขบำบัดก่อนหน้าในปี 2017 โดยผู้วิจัย Lisa Maria Glenk สัตวแพทย์ที่เป็นหัวหน้าทีมวิจัยจากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเวียนนา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การศึกษาก่อนหน้าให้ข้อมูลที่จำกัด และไม่มีข้อมูลของกิจกรรม จึงยากที่จะระบุระดับความเครียดของสุนัข” คำถามต่อมาคือสุนัขเองชอบงานที่ทำจริงหรือไม่ และในการศึกษาแผนกมะเร็งในเด็กให้ข้อมูลบางประการ ตัวอย่างเช่น สุนัขมีท่าทางมีความสุขระหว่างทำกิจกรรมนั้นๆ มากกว่ากิจกรรมอื่นๆ เช่น เมื่อเด็กๆ พูดคุยด้วยหรือเล่นของเล่นกับมัน เห็นได้ชัดว่าสุนัขบำบัดมีท่าทางการตอบสนองที่เป็นมิตรมากกว่ากิจกรรมอย่างการแปรงขนสุนัข หรือวาดรูป ผลลัพธ์ที่ได้ สรุปว่า “บางกิจกรรมก็สนุกมากกว่าสำหรับสุนัข” ขณะที่หนึ่งในทีมวิจัยซึ่งเป็นสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา McCullough กล่าวเพิ่มเติมว่า “ข้อมูลที่เราค้นพบนี้ถือเป็นข้อมูลที่ดี เพราะช่วยให้เรารู้ได้ว่าควรเล่นอะไรกับสุนัข” เพื่อลดความเครียดของสุนัขและช่วยให้สุนัขทำงานได้อย่างสนุก และเช่นเดียวกับงานอื่นๆ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคัดเลือกผู้ทำงาน (สุนัขที่จะเลือกมาทำงาน) ให้เหมาะสม McCullough กล่าวเสริม มีหลายคนที่กล่าวว่าสุนัขของพวกเขาเป็นมิตรแม้กระทั่งกับเพื่อนบ้าน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสุนัขเหล่านั้นจะสามารถทำงานบำบัดได้ “สุนัขกำลังเรียกร้อง

ความสนใจหรือเปล่า เราต้องติดสินบนเพื่อให้มันตอบสนองไหม” เธอกล่าว “ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสุนัขกับผู้เข้ารับการบำบัดนั้นจะไปได้ด้วยดี สำคัญก็คือสุนัขต้องรักงานที่มันทำด้วย”

แหล่งข้อมูล

https://www.nationalgeographic.com.au/animals/therapy

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4248608/

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

เรียบเรียงโดย ชาคริตส์ คงหาญ