นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 27–30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกหนักจนบางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ส่งผลให้ประชาชนขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม โดยเฉพาะอาหาร เนื่องจากมีข้อจำกัดของการกินอาหารในช่วงน้ำท่วม อาทิ มีอาหารจำนวนจำกัดและไม่หลากหลายชนิด โดยเป็นอาหารที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งอาหารแห้ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารปรุงสำเร็จที่ใส่กล่อง จึงมีโอกาสปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อมสูง ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม จึงควรป้องกันโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ หากระบบประปา ยังสามารถใช้การได้ปกติ ให้ทำความสะอาดภาชนะใส่อาหาร ด้วยน้ำสะอาดผสมคลอรีน อาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ไข่ ผักสด ต้องปรุงให้สุกด้วยความร้อน รวมทั้งอาหารปรุงสำเร็จ ก่อนกินควรอุ่นให้ร้อนทุกครั้ง หลีกเลี่ยงอาหารประเภทสุกๆ ดิบๆ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า อาหารสำเร็จรูป และอาหารกระป๋อง ควรดูสภาพสี กลิ่น กระป๋องหรือภาชนะบรรจุ ที่ปิดสนิท ไม่ฉีกขาด กระป๋องไม่ปูดบวม หรือเป็นสนิม และสังเกตวันหมดอายุ ก่อนบริโภคควรอุ่นให้ร้อน โดยนำมาใส่ภาชนะอื่นก่อน แล้วทำการอุ่นให้เดือด ห้ามอุ่นอาหารทั้งกระป๋องโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะเกิดอันตรายจากสารเคลือบหรือสารโลหะที่จะละลายปนมาในอาหารได้ ส่วนอาหารกระป๋องที่เปิดแล้วหากกินไม่หมด ต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่นที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค ในกรณีที่สามารถปรุงอาหารเองได้ ควรกินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ และต้องเก็บในภาชนะที่มีการปกปิด เช่น ฝาปิด ฝาชีครอบ หรือใส่ถุงพลาสติกปิดให้สนิท เพื่อป้องกันแมลงวันตอม ไม่ใช้มือหยิบจับอาหารโดยตรง ควรใช้ช้อนหรือทัพพีตักอาหาร สำหรับอาหารกล่อง ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทบูดเสียง่าย เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของกะทิ มีไขมันสูง จัดอาหารเป็นชุดแยกข้าวกับกับข้าว ใช้อุปกรณ์ในการหยิบจับอาหาร ควรกินหลังปรุงภายใน 2 ชั่วโมง อาหารต้องบรรจุในภาชนะที่สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม ผู้บริโภคควรสังเกตลักษณะอาหารก่อนบริโภคว่าไม่มีกลิ่นหรือลักษณะผิดปกติ และไม่ควรนำอาหารที่ตกค้างจากมื้อก่อนมาบริโภค นอกจากนี้น้ำดื่มควรเป็นน้ำที่สะอาด ผ่านการกรองหรือทำให้ตกตะกอน และควรต้มให้เดือดก่อนดื่ม เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำ ที่สำคัญควรล้างมือทุกครั้งก่อนกินและหลังใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม
“ทั้งนี้ ประชาชนควรใส่ใจในเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะการขับถ่าย อย่าขับถ่ายลงในน้ำ หากไม่สามารถถ่ายอุจจาระในส้วมได้ ให้ถ่ายใส่ถุงดำ ถ้ามีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อให้ใส่ลงในถุงอุจจาระก่อนแล้วปิดปากถุงให้แน่น หรือถ้าไม่มีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ หลังถ่ายอุจจาระเสร็จให้มัดปากถุงให้แน่น แล้วใส่ถุงขยะอีกครั้งก่อนนำไปทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ขอบคุณ กรมอนามัย