เพจเฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand เผยแพร่ข้อมูลจริงกรณีแชร์ข้อมูลว่อน รับประทานตับช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือน ยืนยันว่าเป็นข่าวบิดเบือน โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตามที่มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องรับประทานตับช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
กรณีที่มีข้อมูลแนะนำว่า รับประทานตับช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนนั้น ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า อาหารไม่มีผลโดยตรงกับมดลูกโดยตรง แต่อาหารบางอย่างอาจมีผลต่ออาการต่าง ๆ ที่เกิดช่วงก่อนและขณะมีประจำเดือนได้ และไม่มีหลักฐานหรือผลงานวิจัยที่สนับสนุนว่า การรับประทานตับช่วยลดหรือบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนแต่อย่างใด แม้ตับจะเป็นแหล่งของสารอาหารมากมาย เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 12 วิตามินเค และแร่ธาตุต่าง ๆ แต่ก็มีสารอาหารบางชนิดค่อนข้างสูง
การรับประทานตับจึงอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีสำหรับบางคน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางอย่างอยู่ เช่น คอเลสเตอรอลสูง ภาวะพิษจากวิตามินจากการได้รับวิตามินเอมากเกินไป สารพิวรีนสูงซึ่งส่งผลให้ร่างกายผลิดกรดยูริกมากขึ้นและอาจเกิดการสะสมตามข้อ ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์มีอาการปวดข้อได้ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพในข้างต้นก็อาจเลี่ยงการรับประทานตับไปก่อน ส่วนผู้ที่ชอบรับประทานตับเป็นประจำอาจลดปริมาณลง หรือผู้ที่อยากเริ่มรับประทานตับก็อาจจะรับประทานให้พอเหมาะ หรือหากเป็นไปได้ อาจไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจดูว่าร่างกายขาดหรือต้องการสารอาหารใดบ้าง เพื่อให้แพทย์แนะนำแนวทางที่เหมาะสม
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และสามารถติดตามข่าวสารของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ที่เว็บไซต์ https://anamai.moph.go.th/th หรือ โทร. 02-590-4000
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : อาหารไม่มีผลโดยตรงกับมดลูก แต่อาหารบางอย่างอาจมีผลต่ออาการต่าง ๆ ทั้งนี้ ไม่มีหลักฐานหรือผลงานวิจัยที่สนับสนุนว่า การรับประทานตับช่วยลดหรือบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนแต่อย่างใด และการรับประทานตับในปริมาณมากอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีสำหรับบางคน
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข