วันนี้ (13 ก.ย.2564) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ช่วงที่สังคมไทยมีความคิดเห็นต่าง แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย จะพบเห็นการสร้างวาทะกรรมสร้างความเกลียดชัง มีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างดุเดือด
โดยชักชวนกันเข้าไปแสดงความเห็นจำนวนมากในลักษณะที่เรียกว่า “ทัวร์ลง” กลั่นแกล้งด้วยถ้อยคำต่อว่า ตำหนิ ดูถูกเหยียดหยาม หยาบคาย เพื่อให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย อับอาย ที่เรียกว่า การบูลลี่ หรือ การระรานทางไซเบอร์ (Cyber bully)
โดย ที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลายรายทั้งบุคคลทั่วไปและบุคคลที่มีชื่อเสียง ดารา นักร้อง นักแสดงเข้าพบพนักงานสอบสวน แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับบุคคลที่ทำให้ตนเองเสียหาย ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการโพสต์ การแสดงความคิดเห็น รวมถึงการแชร์ข้อมูลทั้งที่เป็นภาพ คลิปหรือข้อความ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทำได้ง่ายดาย แต่ผู้ที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนได้กระทำ เนื่องจากมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการระรานทางไซเบอร์ ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งบัญญัติเป็นความผิดไว้อย่างชัดเจน
ได้แก่ กรณีใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม และทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ตาม ป.อาญา มาตรา 326 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีเป็นการหมิ่นประมาทโดยมีการป่าวประกาศต่อสาธารณะ จะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตาม ป.อาญา มาตรา 328 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีเป็นการแสดงความคิดเห็นในลักษณะข่มขู่ทำให้เจ้าของบัญชีเกิดความกลัว จะเข้าข่ายความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 392 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีเป็นการแสดงความคิดเห็นในลักษณะดูหมิ่นผู้อื่น และเป็นการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ จะเข้าข่ายความผิดฐานดูหมิ่นด้วยการโฆษณาตาม ป.อาญา มาตรา 393 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นภาพตัดต่อของผู้อื่นในลักษณะที่จะทำให้บุคคลนั้นได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
หากประชาชนได้รับความเสียหายจากการถูกระรานทางไซเบอร์ สามารถรวบรวมพยานหลักฐาน ได้แก่ บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่กระทำความผิด , ข้อมูลหรือข้อความที่ได้รับความเสียหาย ฯลฯ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews